20 บมจ. อสังหาฯ ไทย 9 เดือน ปั้มกำไรทะลุ 2.5 หมื่นล.

17 พ.ย. 2564 | 04:09 น.

เช็ค 20 บมจ. อสังหาฯไทย รอบ 9 เดือน ฝ่ามรสุมโควิด ไตรมาส 3 สุดหิน ยังแกร่งทำกำไรบวกเพิ่ม แลนด์แอนด์เฮ้าส์ - ศุภาลัย - เอพี - ออริจิ้น และ แสนสิริ ขึ้น TOP 5 กำไรสูงสุด ขณะ พฤกษา ประเมินตลาดปีนี้บวกได้ 7% กลยุทธ์ ลด- ล้าง -เคลียร์ - หั่นราคา ทำสต็อกลดฮวบ

17 พ.ย. 2564 - ส่อง 20 บมจ.อสังหาริมทรัพย์ไทย ฝ่าโจทย์หินล็อกดาวน์โควิด ...จากรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฉบับล่าสุด สรุปภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ปี 2564 ว่าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมที่เข้มงวด อยู่ในภาวะ ติดลบ 0.3% เจาะลึก การบริโภคภายในประเทศ หดตัว 3.2% ขณะอุตสาหกรรมก่อสร้าง ติดลบ 4.1% จากการปิดไซต์งาน

 

นับเป็นเครื่องสะท้อนภาวะความยากลำบาก สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ต้องเผชิญกับความอ่อนแอของกำลังซื้อภายในประเทศ  ปัญหาหนี้ครัวเรือน และ ชาวต่างชาติที่หายไปเป็นเวลานานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลตลาดอสังหาฯชะลอตัวทุกแง่ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ปรับลดลง สู่จุดต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือ เกือบ 5 ปี 

อย่างไรก็ตาม พบการแพร่ระบาดฯ ซึ่งทำให้ตลาดคอนโดฯ ไม่คึกคักเหมือนเคย แต่กลับเป็นปัจจัยช่วยผลักดันให้ตลาดแนวราบเติบโตขึ้นในบางเซกเม้นท์ จากความสนใจของผู้บริโภค ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยซึ่งถูกปรับให้ลดลงเข้ากับสภาพเศรษฐกิจ ในรูปแบบ ลด-ล้าง-เคลียร์ สต็อก ทำให้รอบ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ของธุรกิจนี้ไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คิด และเกิดการเติบโตจากช่วงปีก่อน ฝ่าล็อกดาวน์มาได้

 

โดยตัวเลขผลดำเนินงานของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ (listed company)  20 บมจ.อสังหาฯ ซึ่งมีความได้เปรียบด้านเงินทุน ส่วนใหญ่ยังคงทำกำไรบวกขึ้นมา รวมกันได้มากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะบางราย เลือกใช้วิธีเร่งขายสินทรัพย์ สร้างรายได้ พลิกกำไร ตุนเงินสด เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต

9 เดือนสต็อกตลาดลดลง 8%

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เผยว่า ไตรมาส 3 นับเป็นความท้าทายสูงสุดของอสังหาฯ ทำให้มูลค่าตลาดลดลงไปราว 7% แต่ในแง่ยอดขายรวม รอบ 9 เดือน กทม.-ปริมณฑล บวกเพิ่มขึ้น คาดทั้งปีตลาดโต 7%  ทั้งนี้ มาจากบ้านเดี่ยวเติบโตถึง 30% ด้านการโอนฯภาพรวม ติดลบ 10% แต่บ้านเดี่ยว โต3% ส่งผลในแง่สต็อก (สินค้าคงเหลือ) ของตลาดกทม.-ปริมณฑล ณ สิ้น ก.ย. จำนวนหน่วยลดลงไป 8% จากปีก่อน เหลือที่ 204,199 ยูนิต 

 

ส่วนผลประกอบการของพฤกษา รอบ 9 เดือน  มีรายได้ 19,380 ล้านบาท กำไร 1,364 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดโครงการทาวน์เฮ้าส์ถึง 21 โครงการ กลุ่ม 2-3 ล้านบาท ซึ่งแม้มีปัญหาสินเชื่อ แต่ขับเคลื่อนได้ดี ประกอบกับยอดขายบ้านราคามากกว่า 7 ล้านบาท ลูกค้าเงินเดือน 4 หมื่น- 2 แสนบาท ช่วยดันภาพรวมผลประกอบการ 

 

" นับเป็นปีแห่งความท้าทาย สำหรับพฤกษา และเพื่อนในวงการ แต่เรายังเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรม 7% "

20 บมจ. อสังหาฯ ไทย  9 เดือน ปั้มกำไรทะลุ 2.5 หมื่นล.

เปิด TOP 5 อสังหาฯทำกำไรสูงสุด 

" ฐานเศรษฐกิจ " ส่องงบการเงินงวด 9 เดือน ซึ่งเป็นไทม์ไลน์สำคัญ บ่งชี้แนวโน้มตัวเลขความสำเร็จของเป้าหมาย พบ 5 อสังหาฯ ที่ยังคงสร้างรายได้และกำไรได้เติบโตสูงสุด ดังนี้ อันดับ 1 บมจ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ,อันดับ 2  บมจ.ศุภาลัย  , อันดับ 3 บมจ.เอพี ,อันดับ 4 บมจ. ออริจิ้น และ อันดับ 5 บมจ. แสนสิริ 

 

เจาะ บมจ. แสนสิริ เผย ยอดโอนทั้งแนวราบและแนวสูง 9 เดือน เข้าใกล้เป้าหมายที่ 25,100 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 81% จากเป้าหมาย 31,000 ล้านบาท มาจากโครงการบ้านเดี่ยว เช่น การปิดโครงการ บูก้าน โยธินพัฒนา ,โครงการเศรษฐสิริ กรุงเทพกรีฑา , เศรษฐสิริ พัฒนาการ รวมถึงแบรนด์ “อณาสิริ” ซึ่งทำรายได้โตขึ้นกว่า 200% 

 

ด้าน บมจ. ออริจิ้น พบยอดโอนฯคอนโดและบ้านจัดสรรในช่วงไตรมาส 3 ทำได้มากถึง 3,666 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 66% ขณะเดียวกันจากการโหมแคมเปญ และกระตุ้นการขายในโครงการพร้อมอยู่ เช่น การจัดแคมเปญ 9.9 , Live ขายคอนโดฯ ทำให้ไตรมาส 3 สุดหิน มีการรับรู้รายได้เพิ่มเติม ดัน 9 เดือน ทำกำไร 2,386 ล้านบาท 


ลลิล - SC - ASW กำไรบวก 

ขณะ 3 บมจ.อสังหาฯ  ซึ่งมีการไต่เพิ่มขึ้นของกำไร ได้แก่ บมจ. ลลิล พบมีการขยายตัวกว่า 20.3% โดยรับรู้รายได้แล้วที่ 4,828  ล้านบาท คิดเป็น 80% ของเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งเอาไว้ ขณะ กำไรสุทธิขยายตัวได้ 22.6%  จากการรุกขายออนไลน์ - อัดโปรโมชั่น และลุยเปิดโครงการบ้านใหม่ครอบคลุมหลายระดับราคา และทำเล ส่วน บมจ. เอสซี แอสเสท เผย บริษัททำนิวไฮยอดขาย 16,082 ล้านบาท ผลักดัน รายได้รวม 9 เดือน เท่ากับ 13,464 ล้านบาท กำไรเพิ่มราว 3%  น้องใหม่ บมจ. แอสเซทไวส์ กำไร บวก 136%    เทียบกับรายได้ 3,415 ล้านบาท กำไรทำได้มากถึง 735 ล้านบาท ผลักดัน โดยคอนโดฯแบรนด์ Kave ทำเลใกล้มหาวิทยาลัย     

 

" อสังหาฯ ปีนี้ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก กำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวลง ดังนั้นผู้ประกอบการที่สามารถนำเสนอสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่า ก็จะสามารถผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ "  นายชูรัชฏ์ ชาครกุล บมจ. ลลิล ระบุ   

 

PF เร่งปิดดีลขายสินทรัพย์ 

อีกด้านของกลยุทธ์การผลักดันรายได้ เพิ่มกำไร เพื่อตุนสภาพคล่องรับความผันผวนของตลาดในอนาคต บมจ.เพอร์เฟค (PF) ซึ่งพลิกจากขาดทุน มามีกำไร 73 ล้านบาทในรอบ 9 เดือน เผยเร่งขายทรัพย์สินที่มีในมือบางส่วนออกไป โดยในช่วงไตรมาส 4 จะปิดการขายโรงแรมอีก 1 แห่ง เพื่อนำไปชำระหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท โดย นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ ระบุ จะทำให้แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2564 ของบริษัท มีรายได้ที่ระดับ 12,000-13,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนึงมาจากการทยอยรับรู้ยอดขายรอโอนในกลุ่มบ้านระดับบนด้วย 

 

พอร์ตคอนโดฯต่างชาติขาดทุน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา กลุ่มอสังหาฯ พอร์ตคอนโดฯ ใหญ่ อย่าง บมจ.อนันดา  ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ปิดประเทศอย่างชัดเจน ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯให้ลูกค้าต่างชาติได้ ทำให้รายได้ลดลง และมีตัวเลขติดลบด้านกำไร เป็นขาดทุน เช่นเดียวกับ บมจ.เมเจอร์ การเปิดโครงการที่น้อยลง ทำให้มีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ได้ลดลง รายได้ติดลบ ส่วนชาญอิสสระ โควิดกระทบคอนโดฯเซกเม้นท์ระดับบน แม้ไตรมาส 3 มีกำไรบวกมา 72 ล้านบาท แต่ภาพรวม 9 เดือน ติดลบ แต่เป็นการขาดทุนที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จับตาไตรมาส 4 ปลดล็อก LTV จุดเปลี่ยนการขายและโอนฯ ...