“มักกะสัน คอมเพล็กซ์” สู่ซุปเปอร์ทาวเวอร์ 3 แสนล้าน! ตอกย้ำรัฐบาลเอื้อทุนใหญ่ “ชุบมือเปิบ”

09 พ.ย. 2564 | 04:20 น.

วงการพัฒนาอสังหาฯสุดงง นโยบายรัฐ-คมนาคม เบรกโครงการพัฒนามักกะสันคอมเพล็กซ์ 3แสนล้าน แต่ประเคนที่ดินให้กลุ่มทุนใหญ่ผุดโครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์ 120 ชั้นแทนทั้งที่ถอดรูปมาจากโครงการเดียวกัน

หลังจากมีกระแสข่าว บริษัทเอเชียเอราวัน จำกัดในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี. ได้เปิดภาพร่างโครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์ คอมเพล็กซ์ยักษ์ขนาดความสูง 120 ชั้น 550 เมตรบนพื้นที่ 140 ไร่สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน ด้วยหวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของคึนกรุงและเป็นเมืองรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อการพัฒนาโครงการอีอีซีกับใจกลางเมืองหลวงกทม.

 

.... แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ ได้เปิดเผยกับว่า โครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์และเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน ที่ “เจ้าสัวซีพี” เตรียมดำเนินการอยู่นั้น แท้ที่จริงแล้วก็ล้วนถอดรูปแบบมาจากโครงการ มักกะสันคอมเพล็กซ์มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฯเคยจัดทำแผนพัฒนาโครงการเพื่อนำรายได้มาล้างหนี้ขาดทุนสะสมของการรถไฟฯที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาทนั่นเอง โดยในอดีตเมื่อปี 2559 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมในขณะนั้นได้มอบหมายนโยบายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จัดทำแผนพัฒนาโครงการที่ดินของการรถไฟฯที่มีศีกยภาพ โดยมีแผนดึงเอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน "นิคมมักกะสัน”เนื้อที่กว่า 497 ไร่ให้ เป็นโครงการ มักกะสันคอมเพล็กซ์ 3 แสนล้าน เป็นโครงการนำร่อง เพื่อนำรายได้มาล้างขาดทุนสะสมของการรถไฟที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาท แต่โครงการดังกล่าวถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กระตุกเบรกหัวทิ่ม ด้วยข้ออ้างต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็น สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์รถไฟให้เป็นปอดคนกรุงควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์บางส่วน โดยมอบหมายให้กรมธนารักษ์กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ ทำให้การรถไฟฯต้องพับโครงการดังกล่าวลงไปโดยปริยาย ขณะที่กระทรวงการคลังต้องกลับไปจัดทำแผนเช่าที่ดินรถไฟฯและพัฒนาโครงการนี้ใหม่ ก่อนจะเงียบหายเข้ากลีบเมฆจนปัจจุบัน

 

 

 แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นโยบายรัฐบาล คสช.ข้างต้น ทำเอากระทรวงการคลัง และนักลงทุนน้อย-ใหญ่ ที่หมายมั่นป้ันมือกับการพัฒนาทำเลทองผืนสุดท้ายแห่งนี้ต้อง “หาวเรอ”ไปตามๆ กัน เพราะเท่ากับพับโครงการ มักกะสัน คอมเพล็กซ์ มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทลงไปโดยปริยาย

 

 

“ หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตุ การปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาทำเลทองมักกะสันไปเป็น สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะทำเลทองผืนนี้ประเมินมูลค่าแค่วาละ 500,000 บาท ก็มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว การนำเอาไปทำสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ย่อมไม่คุ้มกับการลงทุนแน่”

แต่คล้อยหลังมาไม่กี่ปีภายหลังการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคมมาเป็นนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ วันดีคืนดี เมื่อรัฐบาลเปิดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน (พีพีพี) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่เข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าว นอกจากจะได้รับวงเงินอุดหนุนการก่อสร้างร่วมแสนล้านจากรัฐบาลพร้อมสัมปทานรถไฟความเร็วสูงไปแล้ว ยังได้สิทธิ์การบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มูลค่า 25,000 ล้านบาท และสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และสถานีรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทาง ซึ่งก็รวมทั้งที่ดินทำเลทอง 140 ไร่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ที่ถือเป็นทำเลทองผืนสุดท้ายใจกลางกรุงที่มีการประเมินว่า มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทแถมพกไปด้วย

 

 

 ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่รัฐบาลและการรถไฟ กระทรวงคมนาคมเซ็นสัญญากับบริษัทบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ กลุ่มซีพี เมื่อปลายปี 2562 นั้น ได้ผนวกเอา 3 โครงการใหญ่ที่ประกอบด้วย 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่า 2.24 สานล้านบาท ,2.โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มูลค่า 25,000 ล้านบาท และ3. โครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันเนื้อที่รวมกว่า 150 ไร่มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ที่สามารถจะก่อสร้างคอมเพล็กซ์ยักษ์ต่างๆ ได้นับแสนล้านบาทได้แล้ว

 

 

ขณะที่โครงการพัฒนา มักกะสัน คอมเพล็กซ์ มีรายงานว่า ทางกลุ่มซีพี.ได้เตรียมพลิกขุมทรัพย์ทำเลทองสถานีรถไฟมักกะสันแห่งนี้ ให้เป็นซุปเปอร์ทาวเวอร์ –เมืองไฮสปีดเทรน ที่จะมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยี ไม่ต่างจากโครงการ วัน แบงค็อก บนถนนพระราม 4 ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

แต่โครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์แห่งนี้จะมีอาคารขนาด 120 ชั้น ความสูง 550 เมตร ที่สูงที่สุดในเมืองไทย เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของประเทศไทยเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีกับย่านธุรกิจใจกลางเมืองหลวง กทม.ให้เป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งโลกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของความบันเทิง ศูนย์การประชุมระดับนานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวนักธุรกิจอีกด้วย

 

 

 หลายฝ่ายจึงได้แต่ตั้งข้อกังขา เกิดอะไรขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล เหตุใดนายกฯถึงได้กระตุกเบรกโครงการพัฒนามักกะสันคอมเพล็กซ์ ของการรถไฟฯ ก่อนหน้านี้ และเปิดทางให้เกลุ่มทุนของเจ้าสัวเข้ามาชุบมือเปิบ เพราะแทนที่รัฐหรือการรถไฟฯ จะได้เม็ดเงินรายได้จากการพัฒนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อนำมาล้างหนี้สินให้กับการรถไฟ ก็กลับกลายเป็นเจ้าสัวชุบมือเปิบไปแทนเท่านั้นเอง โดยที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมก็ยังคงโขกสับการรถไฟฯ ว่า บริหารห่วยแย่ เอาแต่สร้างหนี้ทั้งที่เขาเคยจัดทำแผนสะสางหนี้ จะเอาทำเลทองมักกะสันไปทำคอมเพล็กซ์ แบบศูนย์เอนเนอยี่ คอมเพล็กซ์หรือศูนย์คมนาคมบางซื่อแล้ว แต่ก็กลับกระตุกเบรกหัวทิ่ม และไล่ให้ไปทำสวนสาธารณะ-พิพิธภัณธ์ แต่วันนี้กลับไฟเขียวให้ทุนเจ้าสัวเข้ามาชุบมือเปิบเช่นนี้

 

 

ลำพังการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค. อนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับ บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ในเครือซีพี ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าว ในส่วนของการขยายเวลาการจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท ออกไปจากที่กำหนดเดิมเป็น 10 ปี ก็สร้างความกังขาให้กับผู้คนมากพออยู่แล้ว เพราะเป็นการขยายเวลาให้ ทั้งที่บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานยังไม่ได้เข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าวแม้แต่น้อย

 

 

 ก่อให้เกิดคำถามกลับไปยังภาครัฐ อะไรขึ้นกับโครงการ มักกะสัน คอมเพล็กซ์3 แสนล้าน เหตุใดรัฐบาลถึงกระตุกเบรกแผนพัฒนาโครงการของการรถไฟฯ ก่อนประเคนที่ดินไปให้กลุ่มทุนเจ้าสัวดำเนินการ เป็นอีกบทสะท้อนรัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่?