ผ่าอาณาจักร ‘ออริจิ้น’ ขยายธุรกิจใหม่ ปั้นรายได้ 1.4 หมื่นล้าน

11 ส.ค. 2564 | 09:02 น.

ฐานเศรษฐกิจ ผ่าอาณาจักร ‘ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ’ เดินเครื่อง ขยายธุรกิจใหม่คับคั่ง หวังคว้าโอกาสทั้งในตลาดและนอกตลาด ปั้นรายได้ สู่เป้าหมายปี 2564 ที่ 1.4 หมื่นล้าน เจาะแนวคิดคีย์แมน พีระพงศ์ จรูญเอก เมื่ออสังหาฯไม่ง่ายเหมือนเก่า

ตลาดที่อยู่อาศัยไทย ปี 2564 ซึ่งหดตัวตามแรงกระตุก โควิดระลอก 3 ประเมินหน่วยเปิดตัวใหม่ทั้งปี อาจหายไปถึง 30% ขณะการซื้อ-ขาย ฝืดจากกำลังซื้อกลุ่มใหญ่ (แรงงาน, ค้าปลีก, เอสเอ็มอี) อ่อนแอ กลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาด รวมถึงรายได้ของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่หลายรายส่อแววติดลบ ปรับตัวหนัก 4 ด้าน ตั้งแต่เน้นเสริมสภาพคล่อง และลดค่าใช้จ่าย, พัฒนาโครงการเล็กลงแต่คุ้มค่า, เปลี่ยนทิศทางสู่การขายออนไลน์ และกระจายความเสี่ยงสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับคลื่นลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจ

 

“ฐานเศรษฐกิจ” เปิดหน้าม่าน ฉากใหญ่ ของ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ซึ่งนำทัพโดย CEO คนสำคัญ ‘นายพีระพงศ์ จรูญเอก’ กับภารกิจ Disruptor Mindset เมื่อตลาดอสังหาฯ ผันผวน การขยายธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้าง recurring income (รายได้ประจำ)  ทั้ง ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ จึงถูกเร่งเครื่องให้แรงขึ้น เกิดปรากฎการณ์ หาน่านน้ำใหม่ รวบหัวรวบหางอสังหาฯครบวงจรสวนวิกฤติ

 

11 ปี 86 โครงการ 

 

สำหรับ บมจ.ออริจิ้น ก่อตั้ง เมื่อปี 2552 ปัจจุบันมีโครงการคอนโดฯและบ้านจัดสรร ในพอร์ตรวม 86 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 1.34 แสนล้านบาท แบรนด์ดัง เช่น พาร์ค ออริจิ้น, ไนท์บริดจ์, เคนซิงตัน, แฮมป์ตัน และ บริทาเนีย โดย ปี 2563 ท่ามกลางความท้าทายทางธุรกิจรอบหลาย 10 ปีจากโรคระบาด ตลาดติดลบ 25% พบ ออริจิ้น ทำรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์นิวไฮ 15,086 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 2,662 ล้านบาท แม้รายได้รวมติดลบราว 5% แต่ทำยอดขายทะลุเป้า 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนั้น นายพีระพงศ์ ระบุ เกิดจากการปรับตัวอย่างหนักหลายด้าน จนผ่านช่วงเวลาสำคัญมาได้ โดยเฉพาะการให้พนักงานกว่าพันคนในบริษัท ผันตัวเป็น Micro-Influencer สวมร่างนักขายโครงการผลักดันยอดใหม่ได้รวมถึง 10%

 

ขณะชาร์ตอันดับ เปิดตัวโครงการใหม่สูงสุด ณ ครึ่งปีแรก โดยศูนย์ข้อมูลฯ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ระบุ ออริจิ้น ขึ้นอันดับ 8 จากมูลค่า 4,244 ล้านบาท กินส่วนแบ่งตลาดที่ 3.1% ส่วนรายได้ สิ้นไตรมาส 1 อยู่ที่ 3,869 ล้านบาท โตขึ้น 61% กำไร 868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% ภายใต้แผนเปิดโครงการใหม่ทั้งปี ที่ยังคงเป้าหมายสูง 20 โครงการ มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ทะลวงกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัยปีนี้ บริษัทย่อย บริทาเนีย (ธุรกิจบ้านจัดสรร) ซึ่งมีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งปี 11 โครงการ สูงติดระดับท็อปของตลาด ถูกตั้งเป็นเรือธงใหม่ทางรายได้ พร้อมๆ กับการเข้าจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเร็วๆนี้ หลังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มูลค่าโครงการสะสมเกือบแตะ 2 หมื่นล้านบาท 

ผ่าอาณาจักร ‘ออริจิ้น’  ขยายธุรกิจใหม่ ปั้นรายได้ 1.4 หมื่นล้าน
 

วางเกมหมื่นล้าน สู่เป้าหมาย

 

“ วันนี้เราไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย แต่จะขยับสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจ ที่มีสินค้าและบริการต่อยอดไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ คนทุกเจเนอเรชั่น ตลอดช่วงชีวิตของเขา” คือ ยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งนายพีระพงศ์ ระบุ ครั้งเมื่อประกาศแผนธุรกิจปี 2564 ว่าจะพาบริษัทก้าวสู่อีกระดับ  ด้วยเป้ารายได้รวมท้าทาย 1.4 หมื่นล้านบาท หลังจากยอมรับว่า ธุรกิจที่อยู่อาศัยไม่ง่ายเหมือนเก่า ทำให้ตั้งแต่ต้นปี จนถึง ปัจจุบัน ออริจิ้น เดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ อย่างไม่แผ่ว ตามโรดแมป ลงทุนใหม่ ทุ่ม 1 หมื่นล้านบาท 

 

เมื่อไล่เรียงการขยับตัวของบิ๊กอสังหาฯ รายนี้ พบกลยุทธ์ ร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในและนอกประเทศ ยังเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ โดยเดือนกุมภาพันธ์ออริจิ้น ยังคงประกาศจับมือกับพันธมิตรด้านอสังหาฯใหญ่ของญี่ปุ่น ‘โนมูระ เรียลเอสเตท’ ตอกย้ำความสามารถทางการเงิน พัฒนา 2 คอนโดฯใหม่‘ดิ ออริจิ้น สุขุมวิท-สายลวด และดิ ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ รามอินทรา’ รวมมูลค่า 3.6 พันล้านบาท นับเป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ เจาะคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน ร่วมทุน โตคิว แลนด์ คอร์เปอเรชั่น (ญี่ปุ่น) พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสใหญ่ ‘วัน พญาไท’ อาคารสำนักงาน-คอนโดฯ และโรงแรม ใกล้สถานี BTS พญาไท มูลค่า REIT กว่า 3.6 พันล้านบาท 

 

แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในภาวะกำลังซื้อฟื้นตัวช้า ยังส่งผลให้ ออริจิ้น ใช้วิธีกระจายความเสี่ยง จากพึ่งพิงธุรกิจพัฒนาอสังหาฯเพื่อขาย สู่การลงทุนในโครงการที่มีรายได้สม่ำเสมอ หรือ Recurring income ในรูปแบบค่าเช่า หรือ ค่าบริการ พบเทรนด์ธุรกิจรองรับกระแสรักสุขภาพ หลัง COVID-19 เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ออริจิ้น แทรกตัวเข้าไปแบบเงียบๆ ผ่านการจับมือกับพันธมิตรระดับ Top ของตลาด กลุ่ม สมิติเวช ปั้นโมเดล Wellness Residences บริการลูกบ้านในโครงการ ทั้งด้านสุขภาพและความงาม และชัดเจนขึ้นเมื่อร่วมลงทุนกับกลุ่ม KIN จัดตั้งบริษัทใหม่ ‘คิน ออริจิ้น เฮลแคร์’ ล่าสุด เพิ่งเปิดตัว ‘โครงการ คิน ออริจิ้น เฮลท์แคร์ เซ็นเตอร์’ โรงพยาบาลกายภาพบำบัดและสหคลินิกเวชกรรม สูง 8 ชั้น 58 เตียง ทำเลสุขุมวิท 107 เจาะบริการด้านชะลอวัย, ฟื้นฟูผู้ป่วย, การดูแลผู้สูงอายุทั้งระยะยาวและชั่วคราว ซึ่งแม้การแข่งขันสูงแต่เม็ดเงินในอุตสาหกรรมไม่น้อย

 

สเต็ปการร่วมทุนสร้างความฮือฮาอีกครั้ง เมื่อจับมือกับกลุ่มดุสิตธานี พัฒนา โครงการ แฮมป์ตัน ศรีราชา สวนกระแสตลาดอสังหาฯเมืองท่องเที่ยวที่ซบเซา ปั้นที่ดิน 2 ไร่  ใจกลางศรีราชา เป็นเซอร์วิส อพาร์ทเมนท์หรู 5 ดาว มูลค่า 1.4 พันล้านบาท เจาะกลุ่มนักลงทุนอสังหาฯ ชูการันตี ผลตอบแทนสูง 5-9% ต่อปี โดยโครงการนี้ถือใบเบิกทางธุรกิจ Investment Property เต็มรูปแบบแห่งแรกของออริจิ้น และแตกไลน์แบรนด์แฮมป์ตัน สู่โปรดักส์ใหม่ หลังเชื่อมั่นว่า พื้นที่อีอีซี มีศักยภาพเติบโตสูง ยอดขายล่าสุด สูงกว่า 70%

 

การต่อยอดธุรกิจอย่างชาญฉลาดครบวงจรของบิ๊กอสังหาฯรายนี้ ยังเกิดขึ้นจาการประกาศปั้นบริษัทน้องใหม่ล่าสุด ‘แฮมป์ตัน โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์’ เกี่ยวโยงธุรกิจหลัก เข้าเจาะหมวดรับจ้างบริหารโรงแรมและที่อยู่อาศัย ทั้งในแง่ช่วยบริหารจัดการสินทรัพย์ให้เจ้าของโครงการ และร่วมวางแผนหารายได้ โดยรับผลตอบแทน เป็นส่วนแบ่ง กึ่ง Operator เล็งเจ้าของโรงแรม และที่อยู่อาศัยใน 5 หัวเมืองสำคัญ กรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ ภูเก็ต หวังโอกาสจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัว ตั้งเป้า ขึ้น TOP5 ของตลาดใน 5 ปี 
  

กระจายเสี่ยงธุรกิจนอกตลาด

 

ในแง่มุมมองทางธุรกิจหลังวิกฤติโควิด นายพีระพงศ์ ฉายภาพว่า ความเสียหายจากวิกฤติโควิดครั้งนี้ จะติดพันยืดเยื้ออย่างน้อยอีก 1 ปี ฉะนั้น การเตรียมพร้อม เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์เลวร้ายขั้นสุดของแต่ละองค์กร ยังเป็นเรื่องจำเป็น อย่างไรก็ตามทุกวิกฤติ ทำให้ภาคธุรกิจที่ลุกสู้ แข็งแกร่งขึ้น และง่ายต่อการฟื้นตัว โดยความไวของโมเดลธุรกิจ จะเป็นตัวตัดสิน ว่าบริษัทใดจะอยู่รอด เป็นที่มา การแตกไลน์ สู่ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจพลังงานทดแทน 

 

“เราพยายามขยายธุรกิจ ให้มีรายได้หลายทาง ไม่เฉพาะจากการขายบ้านหรือคอนโดฯอย่างเดียว เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า ทั้งตลาดที่อยู่อาศัย และ โรงแรม กระทบจากโควิด ฉะนั้น ต้องเตรียมความพร้อม การเจอวิกฤติแต่ละครั้ง จะเอาตัวรอด ประคับประคองธุรกิจให้เป็นเสาหลักขององค์กร และอุตสาหกรรมได้อย่างไร” คำสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งในสัมนา : ถกมุมคิด ฟื้นธุรกิจยั่งยืน กับ BIG CEO

 

ประเดิมต้นปี ออริจิ้น  ประกาศลงนามร่วมทุนกับกลุ่ม เจดับเบิ้ลยูดี เพื่อรุกธุรกิจอสังหาฯ ที่เกี่ยวข้องโลจิสติกส์ นำร่องลงทุนพัฒนาคลังสินค้าและห้องเย็น พื้นที่ 62,000 ตร.ม. คาดเปิดบริการได้ช่วงปีหน้า ก่อนผลักดันขายเข้ากองทรัสต์  สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน จับมือกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง มีเป้าหมายลุยตลาดติดตั้ง Solar Rooftop ในโครงการที่อยู่อาศัย และติดตั้งและบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ในโครงการคอนโดฯ ประเมินนับเป็นธุรกิจเมกะเทรนด์มาแรง ที่จะต่อยอด และเพิ่มมูลค่าธุรกิจหลักของออริจิ้นได้อย่างดี 

 

อีกกลุ่มธุรกิจที่ออริจิ้นชิมลาง และเห็นโอกาสของตลาด ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ และผลักดันการเติบโตระยะยาว ผ่านจัดตั้งบริษัทใหม่ ด้านบริหารสินทรัพย์ AMC คัดกรอง ซื้อหนี้ NPA และ NPL มาเพิ่มมูลค่าก่อนขายต่อ ความน่าสนใจอยู่ที่แผนธุรกิจและพันธมิตรร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ล่าสุดประกาศ เข้าสู่ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยอีก 1 ขา โดยจะนำร่องขายประกันบ้าน - คอนโดฯ และรถยนต์ เป็นกลุ่มก้อนแรก หลังเล็งเห็นถึงความต้องการที่เติบโตสูงขึ้นมากในช่วงโควิด ซึ่งคาดหน่วยธุรกิจนี้จะสร้างรายได้และกำไรให้อย่างแข็งแกร่ง

 

ทั้งนี้  ปี 2564 บมจ.ออริจิ้น ตั้งเป้าหมายทางรายได้ ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท  จากการขยายพอร์ตสู่ธุรกิจใหม่ๆอย่างคับคั่ง ขณะมูลค่าทรัพย์สิน ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 33,693 ล้านบาท ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 34,962 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2564 

 

หน้า 20 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,704 วันที่ 12 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564