กรมชลฯ กำชับชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำตามข้อสั่งการนายกฯ อย่างเข้มงวด

04 มี.ค. 2567 | 09:45 น.

กรมชลประทาน กำชับชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี อย่างเข้มงวด

วันนี้ (4 มี.ค. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลปรทาน  นายวัชระ  เสือดี  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง)  พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป  

นายชูชาติ  รักจิตร  อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำชีร่วมกับนายกรัฐมนตรี พบว่าการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานตั้งแต่เริ่มต้นฤดูแล้งจนถึงปัจจุบันเป็นไปตามแผนที่กำหนด สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง  โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอทุกภาคส่วน “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรให้ได้มากที่สุด

โดยการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ปัจจุบัน (4 มี.ค. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 50,251 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 26,309 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 13,912 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,216 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้วกว่า 15,916 ล้าน ลบ.ม. (64% ของแผนฯ) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 5,815 ล้าน ลบ.ม. (67% ของแผนฯ)  

ด้านสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 8.50 ล้านไร่ หรือร้อยละ 147 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.68 ล้านไร่ หรือร้อยละ 188 ของแผนฯ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่  รณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบสอง  พร้อมสำรวจพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ เพื่อปรับลดการส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน 


 

ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำแม่กลอง มีการปรับการระบายน้ำจากเขื่อนแม่กลองให้สอดคล้องกับการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกิน 2 กรัมต่อลิตร  

สำหรับพื้นที่ EEC  ได้มีการทำ MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ  และไม่เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยให้กำกับและติดตามให้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างใกล้ชิด 

ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลุ่มน้ำชี-มูล  พบว่าปัจจุบันการเพาะปลูกข้าวนาปรังเป็นไปตามแผนที่กำหนด  อย่างไรก็ตาม ขอให้ติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอทุกภาคส่วน และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนด้วย  

นอกจากนี้  ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง โดยวางแผนรับมือตามมาตรการที่กำหนดอย่างเข้มงวด  พร้อมติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า  เพื่อนำมาประเมินกำหนดจุดเสี่ยงเฝ้าระวังและกำหนดมาตรการป้องกัน    รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมปฏิบัติ  สามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที