“กรมปศุสัตว์” ยกระดับ Big Data พลิกโฉมอุตสาหกรรมโคนมไทย

26 ก.ย. 2566 | 04:01 น.

กรมปศุสัตว์ พลิกโฉมอุตสาหกรรมโคนมไทย พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในการผลิตน้ำนมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภคเพื่อให้ระบบอุตสาหกรรมนมของประเทศยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ

ในปี 2568 ประเทศไทยเปิดการค้าเสรีสินค้านมและครีม นมผงขาดมันเนย และเครื่องดื่มนมภายใต้ความตกลงการเปิดเสรีทางการค้าไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (TAFTA - TNZFTA) ได้มีข้อตกลงยกเลิกโควตาภาษี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ทำให้อุตสาหกรรมโคนมมีความท้าทายจากการนำเข้าสินค้านมเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทยกว่า 70-80% เป็นเกษตรกรรายย่อย อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมนมต่ำกว่าประเทศคู่ค้า 

นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ที่มีความรับผิดชอบหลักในการดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงองค์กรในอุตสาหกรรมโคนม มีนโยบายขับเคลื่อน เพื่อให้ผลผลิตน้ำนมโคไทย มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถที่จะไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ โดยการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการสร้างโคนมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรมปศุสัตว์มีคณะกรรมการบริหาร เพื่อสร้างความมั่นคง และความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและองค์กรโคนม พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในการผลิตน้ำนมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภคเพื่อให้ระบบอุตสาหกรรมนมของประเทศยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
 

โดยรายละเอียดยุทธศาสตร์ประกอบไปด้วย 5 ด้าน ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวฯ มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้องค์กรโคนมบริหารงานมีกำไร เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีรายได้เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี  ผลผลิตน้ำนมมีปริมาณเพิ่มขึ้น มูลค่าส่งออกนมไม่ต่ำกว่า 5%ต่อปี อัตราการบริโภคนมภายในประเทศและผลิตภัณฑ์นมรวม เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4%ต่อปี หรือมากกว่า 44 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2570  พัฒนาการแปรรูปน้ำนม เพิ่มความหลากหลายผลิตภัณฑ์นม เพื่อเพิ่มการใช้น้ำนมดิบภายในประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

โดยมีการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาสายพันธุ์โคนม ซึ่งมีการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ได้เป็นโคนมพันธุ์ “ทรอปิคอลโฮลสไตล์” ที่มีจุดเด่นเลี้ยงง่าย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในเขตร้อนชื้น มีศักยภาพเรื่องความทนโรค ทนแล้ง ทนร้อน และให้น้ำนมสูง 

รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการบริหารจัดการ ตามนโยบายของนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการให้ให้มีฐานข้อมูลโคนมหนึ่งเดียว (Big Data) เพื่อบริหารจัดการโคนมทั้งประเทศ โดยมีผู้ที่รับผิดชอบคือสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ และศูนย์สารสนเทศและการสื่อสาร ผ่าน ระบบฐานข้อมูลโคนม “ GDairy” ซึ่งในนั้นจะมีโครงการย่อยอยู่ 3 โครงการ ได้แก่ 1. “iDairy” เป็นเครื่องมือแสดงผลรายงานการจัดการฟาร์มโคนม ได้แก่ ชื่อเกษตรกร สหกรณ์ องค์กรโคนม 2. iService” เป็นส่วนของผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทุกระดับของกรมปศุสัตว์หรือสหกรณ์ และ 3.  “iFarmer” เป็นส่วนของเกษตรกร เพื่อใช้สำหรับการจัดการฟาร์ม
 

ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ ได้ใช้การประมวลผลผ่านแอปพลิเคชันที่ทันสมัยแบบเรียลไทม์ในฟาร์ม ส่งเสริมการผลิตน้ำนมดิบให้มีศักยภาพสูงขึ้น เป็นประเด็นที่จำเป็นและเร่งด่วนควบคู่กับการเร่งพัฒนาการบริหารจัดการน้ำนมดิบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการบันทึกข้อมูลด้วยเทคโนโลยีจะทำให้เกษตรกรเห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับฟาร์มได้โดยตรง และสร้างประสิทธิภาพในการจัดการฟาร์มให้ดีขึ้น เช่น การผสมเทียม ผลผลิตนม สถานะภาพโค มาใช้ในการวางแผนด้านการจัดการผลผลิตและระบบสืบพันธุ์ ผ่าน “โครงการ 1 ศูนย์ผสมเทียม 1  สหกรณ์โคนมต้นแบบ”
 


ปัจจุบัน มี 10 แห่งกระจายทุกภูมิภาค ผ่าน หน่วยจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Herd Improvement Unit; HIU)  ที่ให้บริการติดตาม ให้คำแนะนำ และแก้ไขปัญหาการจัดการฟาร์ม การปรับปรุงพันธุ์ การจัดการผลผลิต และระบบสืบพันธุ์ ซึ่งหน่วยนี้จะมีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำร่องที่ สหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด จังหวัดลพบุรี ด้วยการใช้การจัดการฟาร์ม การจัดการระบบสืบพันธุ์และผลผลิตผ่านระบบฐานข้อมูล GDairy และปรับการจัดการอาหารเพื่อช่วยในการลดต้นทุน ซึ่งผลสำเร็จเกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้ 10-15% ต่อการผลิตน้ำนม 1 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีกำไรสูงขึ้น และจะขยายผลต่อไปอีกใน 200 สหกรณ์ทั่วประเทศ ก็จะทำให้มีรายได้หมุนเวียนกลับเข้ามา ทำให้เกษตรกรยิ้มได้จากสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
 


ด้านนายจินดา ปิ่นทอง เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กล่าวว่าแอปพลิเคชั่น “iFarmer” เป็นระบบเก็บประวัติข้อมูลโคนมในฟาร์ม ผ่านมือถือ ง่ายในการดูสถานะของโคแต่ละตัว จะมีการแจ้งเตือนจากระบบ เช่น โคนมหลังจากคลอดแล้ว อีก 60 วันจะกลับมาเป็นสัดอีก หรือ แม่โคได้รับการผสมไปแล้วประมาณ 21 วันหากแม่โคไม่กลับมาแสดงอาการเป็นสัดอีกก็อาจคาดได้ว่าผสมติด สถานการณ์แจ้งเตือนจะไปอีกแบบหนึ่ง โดยแจ้งเตือนการตรวจท้อง แต่ถ้าผสมไม่ติดจะมีการแจ้งเตือนให้สังเกตแม่โคว่าจะเป็นสัดอีกรอบเมื่อไร ถ้าแม่โคผสมติดแล้วจะแจ้งให้ทราบว่าจะสามารถรีดนมโคได้อีกกี่วัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกษตรกรจะได้ประโยชน์ เป็นตัวช่วยเกษตรกรให้เลี้ยงโคนมได้มีประสิทธิภาพ และทำให้การบริหารจัดการฟาร์มโคนมยุคใหม่เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายขึ้น รวมทั้งหน่วยงานกรมปศุสัตว์สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องจากการใช้ข้อมูลรายฟาร์ม

สอดคล้องนางสาวประกาย คำสุข เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กล่าวว่า หลังจากผ่านการอบรมการจัดการฟาร์ม การจัดการอาหาร และการจัดการระบบสืบพันธุ์มาแล้ว ทำให้แม่โคมีการผสมติดง่ายขึ้น และถ้าแม่โคมีอาหารกินเพียงพอจะทำให้โคนมเคี้ยวเอื้องดีขึ้น มีสุขภาพดีไม่เครียด 

สำหรับฟาร์มโคนมที่สนใจใช้งาน "แอพพลิเคชั่น iFarmer+" สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ทั้งใน App Store ในระบบไอโอเอส และ Google play ในระบบแอนดรอยด์  โดยสามารถสมัครเข้าใช้งานได้ผ่านแอพฯ หรือติดต่อมาได้ที่เฟสบุคเพจ iFarmer+ หรือศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพทั่วประเทศ หรือมีข้อสงสัยและต้องการความช่วยเหลือในด้านปศุสัตว์อื่นๆ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร.06-3225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง