svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ร้อง ป.ป.ช. สอบพิรุธกระบวนการสรรหา เลขาฯ กสทช.

20 มีนาคม 2566

ร้อง ป.ป.ช. สอบกระบวนการสรรหา เลขาฯ กสทช. มิชอบด้วยกฎหมาย พบพิรุธประกาศเงื่อนไขการสรรหาให้ประธานเบิ้ลโหวต รวบอำนาจตัดสินแต่เพียงผู้เดียว

(วันนี้) 20 มีนาคม 2566 นายอิทธิพล แสงสุรินทร์ หัวหน้าสำนักงาน ส. ปิยะธรรม ทนายความ เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ (ป.ป.ช.) เรียกร้องให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่กำหนดวิธีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส 

โดยออกประกาศให้ตนเอง (ประธาน กสทช.) มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ในการดำเนินการคัดเลือก และเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ท่านอื่น ทำหน้าที่เพียงเห็นด้วยหรือไม่เท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ในการคัดเลือกผู้สมัครแต่อย่างใด ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายระเบียบปฏิบัติ ที่ต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กรอิสระ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว มิได้สะท้อนความโปร่งใสของขั้นตอนที่เปิดกว้างและตรวจสอบได้ แตกต่างจากการสรรหาเลขาฯ ครั้งก่อน เมื่อปี 2554 ที่คณะกรรมการ กสทช. ทุกคนมีสิทธิ์และมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน  

 ประธานเบิ้ลโหวต ผูกขาดอำนาจสรรหาเลขาฯใหม่ 

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 มีการจัดประชุมคณะกรรมการ กสทช.(บอร์ด) นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 เรื่อง พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยประธาน กสทช. นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เสนอต่อที่ประชุมบอร์ดว่า ประธาน กสทช.จะเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในการสมัครเลขาธิการแต่เพียงผู้เดียว แล้วถึงจะส่งต่อให้แก่คณะกรรมการลงความเห็นชอบ 

โดยประธาน อ้างอิงถึง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61 ที่ว่า ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. โดยที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องใช้วิธีการโหวตลงคะแนนเสียง ซึ่งการลงคะแนนของคณะกรรมการ เสียงเท่ากันที่ 3:3 แต่ประธานฯ ออกเสียงซ้ำอีกครั้ง ส่งผลให้คะแนนโหวตกลายเป็น 4:3 เพื่อให้ตนเองสามารถคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นเลขาฯ ได้แต่เพียงผู้เดียว 

พบพิรุธเงื่อนไขการสรรหา ระบุ ประธานจิ้มชื่อ บอร์ดแค่ลงความเห็น 

ในวันที่ 17 มีนาคม 2566 ประธาน กสทช. ได้ออกประกาศ เรื่องรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งมีข้อที่น่ากังขาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดเลือก ข้อ 8 และข้อ 9  
   
โดย ข้อ 8 การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ระบุว่า ประธาน กสทช.จะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. แต่จากนั้น ประธานจะเป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ได้ผ่านการร่วมพิจารณาของคณะกรรมการ บอร์ด กสทช ทั้งหมด 

ส่วนข้อ 9 หลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือกและการประกาศผลการคัดเลือก ระบุว่า ประธาน กสทช. เป็นเพียงผู้เดียวที่จะดำเนินการคัดเลือกโดยการประเมินจากเอกสารประกอบการสมัคร การแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ จากรายชื่อที่ผ่านการคัดเลือกมาทั้งหมด จากนั้น ประธานจึงจะเสนอชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. ส่งไปยังคณะกรรมการ บอร์ด กสทช ท่านอื่น ซึ่งมีหน้าที่เพียงแค่เห็นชอบเท่านั้น  โดยที่คณะกรรมการ บอร์ด กสทช ท่านอื่น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกและเสนอชื่อผู้สมัครคนอื่นเข้าสู่การพิจารณา นอกเหนือจากผู้ที่ประธานได้เลือกไว้แล้วตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด  

เทียบประกาศสรรหา ปี 2554 ผ่านมติบอร์ดทั้งคณะ ต่างจากปี 2566 จบที่ประธานคนเดียว 
  
จากประกาศ การรับสมัครคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. เมื่อปี 2554 ข้อ 10 ระบุชัดว่า คณะกรรมการ บอร์ด กสทช. ทั้งหมด จะให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ และพิจารณาคัดเลือก โดยมีการลงมติจากคณะกรรมการ บอร์ด กสทช. ทั้งหมด โดยเป็นการลงคะแนนลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช.  
ซึ่งเมื่อเทียบกับ ประกาศ การรับสมัครคัดเลือกฯ ในปี 2566 กระบวนการในการคัดเลือกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก การดำเนินการคัดเลือก การเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก กลับตกมาอยู่ที่ประธาน กสทช. แต่เพียงคนเดียว คณะกรรมการ บอร์ด กสทช ท่านที่เหลือ มีหน้าที่เพียงว่าจะให้ความเห็นชอบเท่านั้น  

ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ควรจะสะท้อนถึงความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อันได้แก่ คณะกรรมการ บอร์ด กสทช. ทั้งหมด ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา อีกทั้ง ยังเป็นการลดความเสี่ยงจากการแทรกแซงทางการเมืองและภาคธุรกิจ เพื่อจะเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่า เลขาธิการ กสทช.จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะแม่บ้านของ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสารโทรคมนาคมอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล ตามหลักขององค์กรอิสระที่พึงมี 
 

จี้ประชุมบอร์ดใหม่ 7 คนทบทวนมติวิธีการสรรหา เลขาฯกสทช.ใหม่

วันนี้ 20 มีนาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยระบุว่า บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2566 ประกาศ ณ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2566 โดยหากนับรวมคณะกรรมการทั้งหมด ขณะนี้ครบ ทั้ง 7 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ดังนั้น ประกาศการรับสมัครฯ ที่ผ่านมา ที่ประธาน กสทช. ใช้สิทธิ์ดับเบิ้ลโหวต รวบอำนาจในการคัดเลือกมาไว้ที่ประธานแต่เพียงผู้เดียว ก็ควรจะมีการทบทวนและลงมติในหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่อีกครั้ง จากคะแนนโหวตของคณะกรรมการทั้ง 7 คน เพื่อให้โปร่งใสและเป็นเอกฉันท์