โค้งสุดท้ายเศรษฐกิจปี 2565 กับบทบาท EXIM BANK สร้างอุตสาหกรรม BCG และนักรบเศรษฐกิจไทยในตลาดโลก

30 พ.ย. 2565 | 09:30 น.

ก่อนจะปิดปี 2565 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) คาดการณ์ว่า การค้าสินค้าของโลกในช่วงโค้งสุดท้ายปี 2565 มีแนวโน้มชะลอลง ตามที่ IMF คาดว่าจะปิดปีที่ 2.9% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะชะลอลงต่อเนื่องเหลือ 2.0% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าจับตามอง คือ การค้าโลกในระยะต่อจากนี้จะเผชิญกับ 4 ฉากทัศน์ที่เปลี่ยนไป ดังนี้

 

1) “North…to… South Trade”

  • เศรษฐกิจซีกโลกใต้โตกว่าซีกโลกเหนือ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566- 2570) เศรษฐกิจของแอฟริกา อินเดีย และอาเซียน-5 มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยที่ 4.1% 6.5% และ 5.1% ตามลำดับ สูงกว่าเศรษฐกิจ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่เดิม ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.6% 1.5% และ 4.6% (ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนขยายตัวราว 6% ต่อปี) ตามลำดับ
  • การค้าซีกโลกใต้โตแรง Top3 ของโลก มูลค่าการค้าในช่วงปี 2564-2569 ของอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยสูงสุดในโลกที่ 5.6% ตามมาด้วยเอเชียใต้ (รวมเอเชียกลาง) และแอฟริกาที่ 5.0% และ 4.4% ตามลำดับ ขณะที่อเมริกาเหนือ จีน และยุโรปมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าที่เพียง 3.4% 3.4% และ 3.3% ตามลำดับ

 

2) “Fair…to…Friend Trade” โลกวันนี้แบ่งได้เป็น 2 ขั้ว (Decoupling) ด้านหนึ่งนำโดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยุโรป ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีจีนและรัสเซียเป็นแกนนำ ทั้งนี้ ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันมีความชัดเจนขึ้น ส่งผลให้อิทธิพลทางการเมืองอยู่เหนือเศรษฐกิจในหลายๆ เรื่อง อาทิ สหรัฐฯ พยายามห้ามบริษัทสหรัฐฯ ขายชิปขั้นสูงให้จีน ยุโรปและสหรัฐฯ ไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย และรัสเซียขายน้ำมันราคาถูกให้จีนและอินเดีย เป็นต้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การค้าโลกในระยะถัดไปอาจเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) และสงครามราคา (Price War) ที่เพิ่มขึ้น

3) “Global…to…Regional Supply Chain” ปัญหาเชิงโครงสร้างของ Global Supply Chain ที่ถูกกดดันจากการระบาดของ COVID-19 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยธรรมชาติที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น รวมถึงการขนส่งทั่วโลกมีปัญหา ปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้ผู้ผลิตทั่วโลกพยายามตัด Supply Chain ของตัวเองให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยงที่ Production line อาจหยุดชะงัก โดยเฉพาะการหันมาพึ่งพา Suppliers ในประเทศ และในภูมิภาคมากขึ้น

 

4) “Reverse Currency War” ในอดีตหลายประเทศอาจแข่งกันลดค่าเงินเพื่อให้สกุลเงินของตนอ่อนค่า เพื่อหวังช่วยกระตุ้นการส่งออก แต่ในปัจจุบัน มากกว่า 80% ของประเทศทั่วโลกต่างขึ้นดอกเบี้ย เพื่อหวังชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินตนเอง เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าและต่อสู้กับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกดดันให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อหลายประเทศชะลอลง และยิ่งเป็นการซ้ำเติมการค้าโลก

 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการต้องสร้างความยั่งยืนในการรับมือกับความผันผวนหรือวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหนึ่งในเส้นทางของการสร้างความยั่งยืนในบริบทที่สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่กำลังให้ความสำคัญ คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) โดยในส่วนของ Bio Economy หรือการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ จะเน้นการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในการมีทรัพยากรในภาคการเกษตรจำนวนมากและหลากหลาย ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตจากภาคการเกษตรของไทยบนพื้นฐานของเศรษฐกิจชีวภาพ

ขณะที่ Circular Economy จะให้ความสำคัญกับ “การจัดการทรัพยากร” และ “การลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์” (Zero Waste) ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้มากที่สุดและคุ้มค่าที่สุด และ Green Economy ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพลังงานหมุนเวียน โดยนับเป็นการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดย EXIM BANK มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนหลากหลาย อาทิ EXIM Biz Transformation Loan และสินเชื่อ Solar Orchestra รวมถึงการออก Green Bond

 

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ขานรับนโยบายของกระทรวงการคลัง เดินหน้าขยายบทบาทการเป็นผู้นำ (Lead Bank) ที่ “กล้า พัฒนาเพื่อคนไทย (One Step Ahead for All Development)” สร้างนักรบเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในเวทีโลก โดยใช้ 3 เครื่องมือใหม่ ได้แก่

  1. บริการสร้างตัวตนแบบครบวงจรให้ SMEs ไทยในเวทีโลก ด้วยเครื่องมือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ตั้งแต่การให้ข้อมูล บ่มเพาะ อบรมสัมมนา และให้บริการทางการเงินที่ครบถ้วน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ และผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีที่ยืนในตลาดโลกได้
  2. บริการสร้างโอกาสการลงทุนในต่างแดน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีศักยภาพ (Amazing M) ในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานการผลิตและขยายเครือข่ายทางการค้า
  3. บริการยกระดับธุรกิจไทยสู่ BCG Model มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่รายย่อย รายกลาง ไปจนถึงรายใหญ่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ร่วมขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ BCG ในประเทศไทย เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลก โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุนและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนธุรกิจ BCG ของไทย

 

ในปี 2566 การดำเนินธุรกิจยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนอย่างมาก หรือ “VUCA” ซึ่งประกอบด้วยความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) ผู้ประกอบการจึงควรใช้กลยุทธ์ที่ขอสรุปเรียกว่า EECA (อีกา) เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอด อยู่ได้ และยั่งยืนได้ใน VUCA World

 

EECA ประกอบไปด้วย

  • EVALUATE ประเมินสถานการณ์โดยรอบและผลกระทบต่อธุรกิจอยู่เสมอ ไม่ยึดติดความสำเร็จ ที่ผ่านมา ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และไม่ลังเลที่จะทิ้งท่าไม้ตายเดิมๆ ในอดีต เพราะอาจใช้ไม่ได้ในโลกยุคใหม่ เพื่อไปต่อให้เร็วที่สุด
  • EMPATHIZE ทำความเข้าใจลูกค้า คู่แข่ง และตนเองอย่างลึกซึ้งถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริง กล่าวคือ “ได้ยินในสิ่งที่ลูกค้าไม่ได้พูด ได้เห็นสิ่งที่คู่แข่งไม่แสดงออก” เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้วางกลยุทธ์รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ได้ถูกจุด
  • Clarify มุ่งเน้นการสื่อสารกันแบบกระจ่างแจ้งในทีม โดยทุกคนในทีมต้องเข้าใจชัดเจนตรงกัน และทราบข้อมูลที่ Update อยู่เสมอ เพราะทำให้องค์กรปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น และทันท่วงที
  • AGILE มีแผนงานที่ยืดหยุ่น ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น 

 

ในอีกมุม อาจกล่าวได้ว่าผู้ประกอบการควรดำเนินธุรกิจแบบอีกา ซึ่งมีอายุยืนยาวได้ถึง 90 ปี เพราะอีกามีจุดแข็งสำคัญ คือ การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ฉลาด เรียนรู้ไว อยากรู้อยากเห็น เป็นนักทดลอง รู้จักพลิกแพลงเพื่อเอาตัวรอด และสามารถส่งผ่านความรู้ให้กับกาตัวอื่นได้อีกด้วย เช่น ส่งสัญญาณบอกเพื่อนในฝูงว่ามนุษย์คนไหนเป็นมิตรหรือศัตรู

 

“ผู้ประกอบการยุค VUCA World ต้อง “เก่ง แกร่ง กล้า” คาดการณ์เก่ง ปรับตัวเก่ง เก่งตลอดเวลา (Lifelong Learning) เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เข้ามาทุกวัน แกร่งยกทีม SMEs จะไปได้ไกลต้องมีทีมที่แกร่งช่วย Support การทำงานในด้านต่างๆ ผู้ประกอบการจึงต้องหมั่น update ทักษะใหม่ๆ หรือหาแนวทางพัฒนาเสริมแกร่งให้กับทีมอยู่เสมอ ใจแกร่ง ล้มได้ แต่ต้องลุกไว และพร้อมจะกลับมาสู้ใหม่ด้วย Version ที่แกร่งกว่าเดิม และที่สำคัญคือ กล้ายอมรับข้อผิดพลาด กล้าทำสิ่งใหม่ และกล้าผ่าตัดธุรกิจ เพื่อไปต่อ ในยามที่จำเป็น” ดร.รักษ์กล่าว