TIJ-สถาบันนิติวัชร์ เปิดตัวยุทธศาสตร์ UN แนวปฏิบัติขจัด “ความรุนแรงต่อเด็ก”

30 ก.ค. 2564 | 03:39 น.

ตัวอย่างนี้ถูกยกขึ้นในเวทีเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็ก: ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติฯ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด

เด็กชายเอ ถูกเด็กชายบี ทำร้ายบาดเจ็บ...

เด็กชายเอถ่ายภาพตัวเองมีบาดแผลฉกรรจ์ขณะถูกนำส่งโรงพยาบาล พร้อมโพสต์ลงในโซเชียลฯ

เด็กชายบีเจอทัวร์ลง ตราหน้าว่าเป็นเด็กชั่ว ตำรวจเตรียมดำเนินคดี

เรื่องกลับตาลปัตรเมื่อสหวิชาชีพสืบสวนเรื่องราว พบเด็กชายบีมีปัญหาทางจิตเวช เป็นโรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่แยกทาง

ส่วนเด็กชายเอ แท้ที่จริงมีพฤติกรรมเกเร ตั้งแก๊งกลั่นแกล้งเด็กชายบีมาตลอด และล้อเลียนปมพ่อแม่เลิกกัน จนเด็กชายบีทนไม่ไหว คุมสติไม่ได้...

สรุปว่าเรื่องนี้ใครผิด? เด็กชายเอ หรือเด็กชายบี และใครควรได้รับการดูแลจากทั้งกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการทางสังคม

นี่คือตัวอย่างที่ท้าทายและสะท้อนถึงความอ่อนไหวอย่างยิ่งของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก และการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม

ตัวอย่างนี้ถูกยกขึ้นในเวทีเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็ก: ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติฯ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด

วัตถุประสงค์หลักของเวทีเสวนา คือ เพื่อเปิดตัวคำแปล “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ฉบับภาษาไทย” โดยมุ่งหวังให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงให้ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย

ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ได้รวบรวมหลักการเกี่ยวกับสิทธิเด็ก และแนวปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อให้รัฐสมาชิกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006

TIJ-สถาบันนิติวัชร์ เปิดตัวยุทธศาสตร์ UN แนวปฏิบัติขจัด “ความรุนแรงต่อเด็ก”

วงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษา TIJ อดีตรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เล่าว่า เมื่อปี 2006 (พ.ศ. 2549) สหประชาชาติได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการขจัดความรุนแรงต่อเด็กครั้งแรก จากนั้นในปี 2012 (พ.ศ. 2555) ประเทศไทยได้มีบทบาทสำคัญในด้านการผลักดันนโยบาย ในฐานะที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ สมัยที่ 21 โดยมีความเคลื่อนไหวหลายด้าน เช่น มีรายงานเกี่ยวกับการป้องกันและการสนองต่อการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และได้มีการเชิญชวนให้คณะกรรมาธิการสหประชาชาติพิจารณายกร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ นับเป็นปีแรกที่เน้นการพูดถึงความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ

เมื่อพลิกดูยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ จะพบว่าตั้งแต่ในบทนำได้อ้างอิงถึงความเปราะบางในมิติความรุนแรงต่อเด็กเอาไว้ชัดเจน โดยเฉพาะที่บอกว่า “ผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก บางคนเป็นเด็ก และบ่อยครั้งที่เด็กดังกล่าวนั้นก็เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงเช่นกัน ความจำเป็นในการคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำในกรณีดังกล่าว ไม่อาจลบล้างสิทธิของเด็กทุกคนที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องได้รับการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กโดยได้ความสำคัญเป็นอันดับแรก”

TIJ-สถาบันนิติวัชร์ เปิดตัวยุทธศาสตร์ UN แนวปฏิบัติขจัด “ความรุนแรงต่อเด็ก”

สอดคล้องกับประเด็นที่ สันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ฯ ได้เน้นย้ำในเวทีเสวนาว่า เมื่อเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ ผู้เสียหาย พยาน ผู้ถูกกล่าวหาหรือแม้แต่กรณีที่ศาลตัดสินแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิด ก็ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยวิธีการที่ละเอียดอ่อน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก

“ดังนั้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น ในชั้นสอบสวน ไกล่เกลี่ย หรือสืบพยาน ต้องตระหนักเสมอว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดของเด็ก และต้องคิดโดยเอาตัวเด็กเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่คิดจากมุมมองของเราเอง”

ตัวอย่างที่ สันทนี ยกขึ้นกลางวงเสวนา ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ การปฏิบัติงานของอัยการที่จะต้องสอบปากคำเด็กในชั้นสอบสวน กฎหมายกำหนดให้มีผู้ร่วมสอบปากคำประกอบด้วย สหวิชาชีพ นักจิตวิทยานักสังคมสงเคราะห์ อัยการ และบุคคลที่เด็กร้องขอ เจ้าหน้าที่ต้องไม่คิดไปเองว่า บุคคลที่เด็กร้องขอ จะต้องเป็น “พ่อแม่” เท่านั้น เพราะเด็กอาจจะต้องการย่าหรือยาย หรือแม้แต่เพื่อนมากกว่า

“เด็กอาจไม่สบายใจที่จะพูดเมื่อมีพ่อแม่อยู่ด้วย นี่คือการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” สันทนี ย้ำ

วรภัทร แสงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลปทุมธานี แชร์ประสบการณ์ตรงที่ได้จากการทำงานว่า เด็กที่ได้รับความรุนแรงจะได้รับการช่วยเหลือ 3 ส่วนหลัก คือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อบำบัดรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ ด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการทางสังคม และด้านกฎหมายและการคุ้มครองสวัสดิภาพ แต่ทั้งหมดนี้อาจต้องปรับแนวทางการช่วยเหลือโดยคำนึงถึงเด็กที่เป็น “ผู้กระทำรุนแรง” ด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เพราะบางครั้งผู้กระทำรุนแรงก็มักจะถูกละเลย ซึ่งจริง ๆ เขาเหล่านั้นก็สมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน

TIJ-สถาบันนิติวัชร์ เปิดตัวยุทธศาสตร์ UN แนวปฏิบัติขจัด “ความรุนแรงต่อเด็ก”

ขณะที่ ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทยในการอนุวัติยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ได้สะท้อนมุมมองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมว่า การทำงานเกี่ยวกับเด็กยังต้องมีการปฏิรูป และต้องมีอีกหลายหน่วยงานเข้ามาเสริม เพื่อให้เกิดการบูรณาการแก้ปัญหาเหยื่ออย่างเป็นระบบ ป้องกันไม่ให้เด็กที่เสี่ยงต้องกลายเป็นเหยื่อหรือกลายเป็นโจร ด้วยการออกแบบแนวทางการป้องกันทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงปัญหาให้ชัดเจน

โดยเฉพาะกรณีที่ “เด็กกระทำผิดจริง” ก็ต้องกำหนดมาตรฐานและมาตรการที่เหมาะสมกับเด็กให้ได้ และต้องบังคับให้มาตรการที่กำหนดเป็นไปได้จริง รวมถึงต้องกำกับติดตามผลด้วย

ท้ายที่สุด เป้าหมายของการแปลยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานในการใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองและขจัดความรุนแรงต่อเด็ก บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ อันเป็นหัวใจหลักของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของงานด้านนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

อ่านคำแปลฉบับเต็ม >> https://knowledge.tijthailand.org/en/publication/detail/un-model-strategies-on-vac#book/