เปิดสาเหตุไฮสปีดไทย-จีน ดีเลย์ 4 สัญญา

08 ก.ค. 2564 | 06:06 น.

รฟท.เผยสาเหตุ ไฮสปีดไทย-จีน 4 สัญญา ดีเลย์ เหตุติดปัญหาหลายเรื่อง คาดผู้รับเหมาสงวนสิทธิลงนามสัญญา หลังภาครัฐสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือน เซ่นพิษโควิดรอบใหม่

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) หรือไฮสปีดไทย-จีน ปัจจุบันเหลืออีก 4 สัญญา ที่ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาจาก 14 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 18,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนเนื่องจากโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งรัดหาข้อสรุปการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้กระทบทั้ง 2 โครงการคาดว่าจะเปิดประมูลต้นปี 2565 และลงนามสัญญาต่อไป

 


 2.งานโยธาสัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม.วงเงิน 8,628.8 ล้านบาท โดย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ชนะการประมูล ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการรฟท. (บอร์ด) พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะลงนามสัญญาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายใน 30 วัน หลังจากมีการลงนามสัญญา 
 

3.สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท  โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุด 9,913 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับกรมศิลปากรในการปรับแบบสัญญาให้สอดคล้องกับรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ช่วงผ่านสถานีอยุธยาเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการเป็นพื้นที่มรดกโลก และ 4.สัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก- บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. วงเงิน 9,930 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเมนท์ เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,349 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่ 11,386 ล้านบาท  ซึ่งติดปัญหาข้อพิพาทผลอุทธรณ์ของบริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด (นภาก่อสร้าง) เบื้องต้นศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น  

 


 “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบกับโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามทั้ง 4 สัญญา หรือไม่ เบื้องต้นต้องรอบอร์ดรฟท.เป็นผู้พิจารณาก่อน โดยคาดว่าผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ละสัญญามีแนวโน้มที่ของสงวนสิทธิการลงนามสัญญาออกไป เนื่องจากติดปัญหาการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงนี้”

  ขณะเดียวกันที่ผ่านมามี 8 สัญญาที่ได้ลงนามสัญญาแล้วเสร็จ ประกอบด้วย 1.สัญญา 3-2 ช่วงงานอุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,279 ล้านบาท 2.สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,838 ล้านบาท 3.สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้วและช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,848 ล้านบาท 4.สัญญา 3-5 ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร วงเงิน 7,750 ล้านบาท  5.สัญญา 4-3 งานโยธา ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้าง 11,525 ล้านบาท 6.สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงินก่อสร้าง 6,573 ล้านบาท 7.สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง  31.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้าง 9,428 ล้านบาท และ 8.สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 8,560 ล้านบาท อยู่ระหว่างสำรวจเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง  ซึ่งปัจจุบันได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) แล้ว อยู่ระหว่างการเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจก่อสร้างโครงการฯ 

 

เปิดสาเหตุไฮสปีดไทย-จีน ดีเลย์ 4 สัญญา
 รายงานข่าวจาก รฟท. กล่าวต่อว่า ส่วนสัญญาที่มีการลงนามแล้วและดำเนินการเข้าพื้นที่ติดปัญหาด้านการก่อสร้างหรือไม่นั้น ขณะนี้ทางผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถเข้าในพื้นที่ของรฟท.ได้ ขณะเดียวกันยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ที่มีการเวนคืนที่ดินได้ เนื่องจากต้องรอออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) มีผลบังคับใช้ก่อน คาดว่าจะออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินภายใน 1-2 เดือนนี้

 


 อย่างไรก็ตามในส่วนของสัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงินกว่า 100 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ขณะที่สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3,114 ล้านบาท  อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง


หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564