“กรมวิชาการเกษตร” สืบสานปณิธาน อนุรักษ์พันธุ์พืชหายาก-ใกล้สูญพันธุ์

24 ส.ค. 2566 | 06:20 น.

“กรมวิชาการเกษตร” สืบสานปณิธาน อนุรักษ์พันธุ์พืชหายาก-ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อไว้เป็นแหล่งเชื้อพันธุ์พืชให้คงอยู่ตลอดไป

ตามที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ดำเนินงานโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชได้ระยะเวลาหนึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้มีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นในปี 2535 โดยทรงเน้นให้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่หายากหรือกำลังใกล้สูญพันธุ์ เพื่อไว้เป็นแหล่งเชื้อพันธุ์พืชให้คงอยู่ตลอดไป

 

“กรมวิชาการเกษตร” สืบสานปณิธาน อนุรักษ์พันธุ์พืชหายาก-ใกล้สูญพันธุ์

 

“ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง” เป็นหนึ่งในศูนย์ที่ได้รับมอบหมายจากกรมวิชาการเกษตร ให้ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นเมืองของภาคใต้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยมีการรักษาสภาพพื้นที่ป่าและพันธุกรรมพืชให้คงอยู่ในสภาพเดิม 296 ไร่ มีการสำรวจ รวบรวบ และสร้างแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของภาคใต้รวมอนุรักษ์พันธุ์พืชหายาก ใกล้สูญพันธุ์ โดยจัดแบ่งออกเป็น 2 แปลง ได้แก่ 1.แปลงปลูกรวบรวมไม้ผลเมืองร้อน จำนวน 46 ชนิด อาทิ กล้วยมูสัง,ก่อข้าว และจำปาดะ เป็นต้น 2.แปลงปลูกรวบรวมผัก พื้นเมืองต่างๆ ของภาคใต้ 69 ชนิด อาทิ เนียง,มะเดื่อฉิ่ง และสะตอ เป็นต้น

 

“กรมวิชาการเกษตร” สืบสานปณิธาน อนุรักษ์พันธุ์พืชหายาก-ใกล้สูญพันธุ์

 

นอกจากนี้ภายในศูนย์ฯ ยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมต ลอดจนเป็นการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืชให้แก่เยาวชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องถิ่นให้เห็นถึงคุณค่าและการใช้ประโยชน์ ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ และเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติต่อไปในอนาคต เพื่อรักษาสภาพพื้นที่ป่าและพันธุกรรมพืชให้คงอยู่ในสภาพเดิม

“กรมวิชาการเกษตร” ยังดูแลพันธุ์ไม้ผล พืชผัก และกล้วย ตามหลักวิชาการ โดยนำระบบการให้น้ำเข้ามาปรับใช้ มีการปฏิบัติหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต คือ การตัดแต่งกิ่งและการใส่ปุ๋ย รวมถึงการจัดการด้านโรคและแมลงศัตรูพืชและมีการขยายพันธุ์ผักพื้นเมืองภาคใต้สู่แปลงเกษตรกรเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน