‘มานะ’สะท้อนความล้มเหลว จีที 200 บทเรียนผู้มีอำนาจต้องตระหนัก

27 มิ.ย. 2559 | 05:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สะเทือนถึงรัฐบาล พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากที่ศาลโอลด์ เบลีย์ ของอังกฤษ ตัดสินยึดทรัยพ์นายเจมส์ แมคคิอร์มิค อดีตนักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ จีที 200 มูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอดน์ ประมาณ395 ล้านบาท เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้ซื้อที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากจีที 200 ไม่สามารถใช้งานได้จริง

[caption id="attachment_65655" align="aligncenter" width="700"] ลำดับการจัดซื้อเครื่องจีที  200 สูงสุด-ต่ำสุด ลำดับการจัดซื้อเครื่องจีที 200 สูงสุด-ต่ำสุด[/caption]

ในขณะที่เหล่าทัพอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและแนวทางทางปฏิบัติอยู่นี้ ร้อนถึงผู้นำรัฐบาล "บิ๊กตู่" ต้องออกมาแอ็คชั่น ประกาศท่าทีก่อนจะถูกฝ่ายตรงข้ามนำมาเป็นประเด็นโจมตีขยายผลต่อ หลังจากประสบการณ์ก่อนหน้านี้ที่เพิ่งเคลียร์ปม โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์จบไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตั้งธงถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิค่าชดเชยตามคำพิพากษาของศาลอังกฤษ ทั้งๆที่ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในลูกค้าชั้นเยี่ยมที่สั่งซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่านับหลายร้อยล้านบาท

ก่อนสั่งการให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาดำเนินการ โดยมือกฎหมายรัฐบาลรายนี้ ให้ความเห็นว่า การเรียกร้องค่าเสียหายตามที่ศาลอังกฤษสั่งยึดทรัพย์ไว้เป็นเรื่องใหม่ โดยหน่วยงานที่เป็นตัวแทนรัฐในการเรียกเงินเยียวยาน่าจะเป็น สำนักงานอัยการสูงสุด เพราะมีกฎหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่

ด้านนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบในเรื่องนี้ว่า มีหลายสำนวนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนวนหลักของคดีนี้เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม โดยนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศจะเดินทางกลับมาปลายสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี ประเด็นหลักในการตรวจสอบของ ป.ป.ช.พุ่งไปที่เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่แต่ละหน่วยงานซื้อในราคาไม่เท่ากัน ส่วนเรื่องประสิทธิภาพว่า สามารถใช้งานได้หรือไม่นั้น ประเด็นนี้พิสูจน์ได้ยากว่า มีการทุจริตหรือไม่ เนื่องจากหลายประเทศที่ซื้อต่างถูกหลอกทั้งสิ้น พร้อมให้ข้อมูลว่า ผู้ถูกกล่าวหาจากกรณีดังกล่าวเบื้องต้นไม่พบว่า มีรายชื่ออดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยรายชื่อผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่จัดซื้อเครื่องจีที 200 เท่านั้น

ถอยหลังไปเมื่อปี 2553 เกิดกระแสเรียกร้องจากภาคประชาสังคมให้มีการตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องจีที 200 ว่าใช้ได้จริงหรือไม่ กระทั่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้น มีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาตรวจสอบ โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตั้งแต่ คณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 และได้แถลงผลการตรวจสอบว่า สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดซีโฟร์ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง จาก 20 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีตัวละครั้งมีตัวเลือก 4 กล่อง ซึ่งไม่มีนัยทางสถิติ รัฐบาลจึงได้ยกเลิกการจัดซื้อเพิ่มเติมและให้หน่วยงานที่ใช้อยู่ทบทวนเรื่องการใช้งานเครื่องตรวจสอบจีที 200

ต่อเรื่องนี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัชั่น (ประเทศไทย) สะท้อนมุมมองกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นกรณีศึกษา เป็นบทเรียนที่สำคัญของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ไม่ใช่เฉพาะการสูญเสียทรัพย์สิน งบประมาณของประเทศเท่านั้น แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเสี่ยงภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

"สำหรับคดีนี้มีหลายประเทศที่โดนหลอก ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องอธิบายกับผู้ปฏิบัติงานว่า ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็ตาม เขาจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนหลอกลวงอีก ต้องมีเปิดเผยข้อมูลและผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ต้องมีหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ จะต้องมีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษว่า จะทำกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก" ดร.มานะ ให้แง่คิดทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559