เปิดแผนลึก“ฮั้ว สว.สีน้ำเงิน” DSI เร่งเครื่องสอย

25 เม.ย. 2568 | 00:30 น.

การฮั้วเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นแผนการอันแยบยลเพื่อควบคุมวุฒิสภา หวังใช้อำนาจผ่าน “กลไกสภา” โดยใช้เงินและอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง รายงานพิเศษ โดย..ฐานเศรษฐกิจ

KEY

POINTS

  • “ดีเอสไอ”เตรียมสรุปคดี“ฮั้วเลือก สว.”ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ว่าจะแจ้งข้อกล่าวหา  จับกุม ส่งฟ้อง หรือ ไม่ส่งฟ้อง 
  • ผลการสอบสวนพยานของดีเอสไอ พบการ “ฮั้วเลือก สว.” ทำเป็นขบวนการ มีนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น เข้ามาเกี่ยวข้อง
  • การฮั้วเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นแผนการอันแยบยลเพื่อควบคุมวุฒิสภา หวังใช้อำนาจผ่าน “กลไกสภา”  โดยใช้เงิน และ อิทธิพล เข้ามาเกี่ยวข้อง
     

ท่ามกลางกระแสการเมืองที่กำลังร้อนแรง คดีพิเศษ “ฮั้วเลือก สว.” ซึ่งอยู่ภายใต้การสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจผ่านช่องทางรัฐสภา 

โดยคดีฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในส่วนของคดีฟอกเงิน ที่อยู่ระหว่างสอบสวนของดีเอสไอนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ออกมาเปิดเผยถึงผลการทำงานของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ว่า มีความคืบหน้าพอสมควร ซึ่งอยากทำให้ทันภายในกรอบเวลา อาจจะเป็นสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ที่จะต้องมีกระบวนการการแจ้งข้อกล่าวหา หรือจับกุม จะส่งฟ้อง หรือ ไม่ส่งฟ้อง 

“ทีมสอบสวนมีกรอบเวลา หากผมพูดไปจะเป็นการไปกำหนดกรอบเวลา เช่นเดียวกันกับคดีที่ทางดีเอสไอ ไปดำเนินการสอบสวนร่วมกับ กกต. ซึ่งขณะนี้ไม่มีปัญหาเรื่องของข้อมูล เช่น ข้อมูลผู้สมัครกว่า 40,000 คน ก็ได้มาแล้ว” 
ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า เรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การสอบสวนจะสอบสวนที่ใด เวลาใด แต่ว่าต้องรวดเร็ว

ขบวนการ“ฮั้ว สว.”ที่จัดเป็นระบบ 

ข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากแหล่งข่าวจากการสอบสวน พบว่า กระบวนการจัดตั้งและวางแผนเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้ เป็นแผนที่ถูกวางอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายชัดเจน โดยสามารถสรุปออกเป็น 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

1. การวางแผนเบื้องต้น

• พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องเลือกใช้จังหวัดเล็ก ที่มีฐานเสียงแน่นและการแข่งขันน้อย

• จัดเตรียมคนสมัครจากทุกกลุ่มอาชีพ (20 กลุ่ม) ในทุกอำเภอ
 

• มีรายชื่อ ส.ว. เป้าหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่เกรงใจประชาชนว่าจะรับได้หรือไม่

 • สนับสนุนเงินประมาณ 500 ล้านบาท แยกให้ผู้สมัครระดับอำเภอคนละ 15,000 บาท (ค่าสมัคร 2,500 ที่เหลือเป็นค่าตอบแทน)

 • ผู้สมัครบางคนถูกหักหัวคิว และทำหน้าที่เป็น “เครื่องมือ” ไม่ได้หวังเป็น ส.ว.

•ใช้เงินเคลียร์ ความสะดวก

2. การคัดเลือกและการเงิน
 

• จัดทำโพยฮั้วให้กลุ่มพลีชีพ เลือกเป้าหมายแรกคือ ส.ว. 140 คน และสุดท้ายได้ 138 คน และ สำรองอีก 2

 • คัดเลือกระดับอำเภอ→ จังหวัด→ ประเทศ

 • คนที่หลุดจากรอบอำเภอไปสู่รอบจังหวัดได้ 50,000 บาท  และหากเข้ารอบประเทศ ได้เพิ่มอีก 100,000 บาท

 • จ่ายเงินสดล่วงหน้า 20,000 บาท ที่เหลือจ่ายภายหลังเลือกเสร็จ

3. การดำเนินการระดับประเทศ

 • นำผู้สมัครมาพักโรงแรมที่อยู่นอก กทม. เพื่อหลบการตรวจสอบ
 

• มีการซักซ้อมเลือกโดยให้เขียนเบอร์ผู้สมัครเป้าหมายในแบบฟอร์ม สว.3 แล้วนำเข้าไปในคูหา

 • เมื่อ กกต. สั่งห้ามนำแบบฟอร์มเข้าคูหา ก็เปลี่ยนวิธีเป็นเขียนลงมือ หรือ แอบนำเข้าไป
 

• เงินจ่ายให้ผู้สมัคร “เครื่องมือ” อีก 80,000 บาทภายหลังเลือกเสร็จ

4. ความเกี่ยวข้องของผู้มีอำนาจ

• มีนายใหญ่ค่ายพรรคการเมือง เป็นผู้นำและวางแผนทั้งหมด

• มีการประชุมย่อยในพรรคเกี่ยวกับการควบคุม ส.ว. และการจ่ายเงิน

• ใช้ถ้อยคำว่า “ข้างบนสั่ง ...ไม่ต้องกลัว”

5. ผลลัพธ์

• ได้ ส.ว.ตามเป้า 138 คน คุมวุฒิสภาได้เกือบทั้งหมด

 • นายใหญ่ค่ายพรรคการเมือง เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในวุฒิสภา เช่น ประธาน รองประธาน กรรมาธิการ

• การแต่งตั้งผู้ช่วยของ ส.ว. ก็มีการควบคุมจาก นายใหญ่พรรคการเมือง

                         เปิดแผนลึก“ฮั้ว สว.สีน้ำเงิน” DSI เร่งเครื่องสอย

ผลสอบนำร่อง“อำนาจเจริญ”

ทั้งนี้ จากการสอบสวนพยานที่จังหวัดอำนาจเจริญ ของพนักงานสอบสวน ได้ให้การถึงขบวนการ “ฮั้ว สว.” ดังนี้

• คำให้การพยานจังหวัดอำนาจเจริญ 11 ราย พบการจัดการให้ได้มา สว. มีพฤติกรรมที่เข้าข่าย “ฟอกเงิน อั้งยี่ด้วยการกระทำฮั้ว” การสมยอมกันเพื่อให้ผลการคัดเลือก สว. เป็นไปตามที่ตกลงไว้ 

• อำนาจเจริญมีผู้สมัคร สว. 842 คน ผ่านการคัดเลือกระดับอำเภอ ไปสู่ ระดับจังหวัด 708 คน 

• ระดับจังหวัดไประดับประเทศ ที่เมืองทองธานี มี 39 คน

สุดท้ายได้รับเลือกเป็น สว. 5 คน 

พฤติกรรมจากการสอบสวน  

• ประชุมลับกันที่ “รีสอร์ทสุขสำราญ” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50-70 คน เพื่อวางแผนการเลือก ส.ว.  

• ในการประชุม มีการแจกเงินค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้สมัคร เช่น ค่าสมัคร ค่าถ่ายรูป ค่าเดินทาง และ “ค่าป่วยการ” หลังไม่ได้รับเลือก

 • มีการแนะนำวิธีจัดทำ “โพยเลือก สว.” ให้ผู้สมัครนำเข้าห้องเลือกตั้ง เนื้อหาโพยแต่ละคนแตกต่างกัน

• มีการประสานงานให้เลือกไขว้กัน

• มีการสั่งการให้เลือกไขว้กันภายในกลุ่มผู้สมัคร เช่น เลือกตนเองและเลือกผู้สมัครที่ “กำหนดไว้”

• มีพฤติกรรม “ฝากคะแนน” และ “ห้ามเลือก” บางคนอย่างเจาะจง

• มีการสนับสนุนเงิน ถือเป็นความผิดในข้อหาฟอกเงิน ดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่เปิดเผย

• เงินที่นำมาฟอกให้ผู้สมัครได้รับเงินเป็นงวด ๆ (1,000–3,500 บาท หรือมากกว่านั้น) จากกลุ่มบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ

• สนับสนุนการเดินทางไปเลือกตั้งระดับประเทศ เช่น จัดรถตู้ พักโรงแรม และแจกเงิน 20,000 บาทต่อคนในรถ

เชื่อมโยงนักการเมือง 

• หลายคำให้การระบุว่า “นักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น” และบุคคลใกล้ชิดเป็นผู้จัดหา และชักชวนผู้สมัคร สว.

• มีการกล่าวถึงชื่อ “นาง สสร.” ที่ทำในนามกลุ่มพรรคการเมือง และ “พ.ต.อ.ชัด” กับเครือข่ายเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง  

• มีการนัดหมายแกนนำในพื้นที่เข้าประชุมที่ “สำนักงาน นาง สสร.” หลายครั้ง

• มีการจัดซักซ้อมการลงคะแนน และควบคุมด้วยสัญลักษณ์
• มีการซ้อมเลือกและใช้เสื้อเหลืองมีตราสัญลักษณ์ร่วมกัน เพื่อแสดงการเป็นกลุ่มเดียวกัน

• มีการควบคุมกลุ่มโดยใช้รถตู้และมีบุคคลควบคุมอยู่ด้านหน้ารถ ทำหน้าที่แจกเงิน

สวนหมัดดีเอสไอ-กกต.

• นาง สสร. เรียกแกนนำการจัดการเลือก สว. มาประชุม หลังดีเอสไอ - กกต. สอบสวนผู้สมัคร สว.ในอำนาจเจริญ

• นางสสร.-แกนนำ ติดตามตัวผู้สมัคร สว.บางคนที่ให้การเป็นพยานกับทางดีเอสไอ เข้ามาพบ เพื่อสอบถามรายละเอียด

• สั่งการให้ผู้สมัคร สว. ที่ให้ปากคำแล้ว อาจให้การที่ส่งผลกระทบถึง “นาง สสร.+ตัวการสำคัญ” ในการจัดการเลือก สว. ไปแจ้งความลง “บันทึกประจำวัน” ที่สถานีตำรวจ โดยมี นายตำรวจระดับ “พ.ต.อ.” ในจังหวัดเป็นผู้ให้คำชี้แนะ

การฮั้วเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นแผนการอันแยบยลเพื่อควบคุมวุฒิสภา หวังใช้อำนาจผ่าน “กลไกสภา”  โดยใช้เงินและอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งใครๆ ก็รู้ดีว่า “วุฒิสภา” สามารถมีอิทธิพลต่อรัฐบาลได้ สามารถล็อกคนที่จะเข้าสู่องค์กรอิสระได้ 

มารอดูกันว่าท้ายที่สุดแล้ว ดีเอสไอ หรือ กกต. จะสามารถ “สอย สว.สีน้ำเงิน”  ได้สักกี่คน มากน้อยแค่ไหน???