วันที่ 10 ก.ย. 2567 มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการพิจารณาวาระสำคัญในการเลือกประธานกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ แทน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่เกษียณอายุเนื่องจากครบ 70 ปี ในวันที่ 9 ก.ย.
โดยการลงมติครั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 19 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งประธานกรรมการหรือมี แต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ จนกว่าจะมีประธาน ป.ป.ช.คนใหม่
โดยที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 1 เสียง จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 6 คนเท่าที่มีอยู่เลือก นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
โดยนายวิทยา ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ช่วงเดือน ธ.ค. 2558 และจะเกษียณเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 9 ปี ในเดือน ธ.ค. 2567
ก่อนหน้านี้ รายชื่อตัวเต็งที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช.มี 2 ราย ได้แก่ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง อดีตรองประธานศาลฎีกา และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุค คสช. และ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา รายงานอ้างแหล่งข่าวในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า มีกรรมการ ป.ป.ช.รายหนึ่ง เสนอให้มีการเชิญ นายพศวัจน์ กนกนาค อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ที่ผ่านการสรรหา และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 แต่อยู่ระหว่างการรอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มาร่วมประชุมด้วย
แต่ที่ประชุมไม่สามารถข้อหาสรุปได้ จึงมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ให้สอบถามวุฒิสภาเกี่ยวกับสถานภาพของ นายพศวัจน์ กนกนาค ซึ่งยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หลังจากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบนานกว่า 1 ปีแล้ว
สำหรับประวัติของ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นั้น จบปริญญาตรีศิลปะศาสตร์บัณฑิต รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยปทุมธานี
เริ่มรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย ก่อนโอนย้ายมาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปัจจุบันคือ ป.ป.ช.) ช่วงปี 2525 และเติบโตขึ้นตามลำดับ
ในปี 2551 เป็นผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ปี 2554 เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปี 2556 เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
หลังจากเกษียณราชการ ไปดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เคยเป็นสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่ได้รับเลือก ก่อนจะมาสมัครรอบที่ 2 และได้รับเลือกเมื่อปี 2558