เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม-คำต่อคำ คดีนายกฯเศรษฐา พ้นจากตำแหน่ง

14 ส.ค. 2567 | 12:14 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2567 | 12:47 น.

เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม-คำต่อคำ คดีนายกฯเศรษฐา พ้นจากตำแหน่ง เซ่น ตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นทั้งคณะ 

เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม-คำต่อคำ คดีนายกฯเศรษฐา พ้นจากตำแหน่ง

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ เห็นว่าความเป็น รัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) 
 

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)

บรรทัดต่อจากนี้ คือ คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับเต็มแบบคำต่อคำที่จะเป็นบรรทัดฐานให้นายกรัฐมนตรีคนถัด ๆ ไปในการแต่งตั้งรัฐมนตรี  

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ : วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 เรื่องประธานวุฒิสถาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคห้าม ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ 

นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ : อ่านเฉพาะบทวิเคราะห์ ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญ้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 หรือไม่ 

พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสถาเข้าชื่อร้องต่อผู้ร้องของให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า 

ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่หนึ่งและผู้ถูกร้องที่สองสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้อง กรณีของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ไว้วินิจฉัยและผู้ถูกร้องที่หนึ่งยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 

ส่วนคำร้องที่ขอให้พิจารณาความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกต้องที่สองสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเห็นว่า ข้อเท็จจริงเห็นว่า ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่สองขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 แล้ว เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2)

กรณีไม่มีเหตุจะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 51 กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้อง กรณีผู้ถูกร้องที่สอง 

สำหรับการสั่งให้ผู้ถูกต้องที่หนึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่าในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและคำชี้แจง และเอกสารของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า

คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้จึงยุติการไต่สวนตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

กำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่หนึ่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ 

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 160 และมาตรา 170 เป็นบทบัญญัติในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 160 (4) บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาตรา 170 (1) บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160

สำหรับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 219 บัญญัติให้นำมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยราชการ หน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 2561 มาบังคับใช้กับคณะรัฐมนตรีด้วย 

โดยมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่า มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้บังคับใช้แก่คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคสองด้วย ข้อ 7 กำหนดว่า ต้องถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน 

ข้อ 8 กำหนดว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยตนเองและผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 

ข้อ 11 กำหนดว่า ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม 

ข้อ 17 กำหนดว่า ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์การดำรงตำแหน่ง 

ข้อ 19 กำหนดว่า ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ 

และข้อ 17 วรรคหนึ่งกำหนดว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และวรรคสองกำหนดว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่า มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติ 

นอกจากนั้นยังปรากฏเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตามคำปรารภว่า รัฐธรรมนูญนี้วางกลไกลป้องกัน ตรวจสอบและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวดเด็ดขาดเพื่อไม่ให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170

เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่มีสิทธิสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 98 ซึ่งต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐูธรรมนูญมาตรา 160 (7) และ (8) ด้วย สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต้องการให้บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติสูงกว่าบุคคลที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานทางบริหารและทางปกครองประเทศ 

ความแตกต่างระหว่างคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐธรรมนูญตามมาตรา 160 (4) และ (5) นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) เป็นกรณีซื่อสัตย์สุจริตในภาพรวมทั่วไปที่ปรากฏต่อสังคม ส่วนกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) เป็นกรณีเฉพาะเจาะจงที่กำหนดไว้ทางมาตรฐานจริยธรรม 

3 ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี 

การพิจารณาว่าบุคคลใดมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และไม่มีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) นั้น เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณาในฐานะผู้รับผิดชอบในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีและเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว 

โดยผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการที่ตนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นเสมอ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่มีผู้ถวายคำแนะนำ ความรับผิดชอบดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ประการ คือ 

  • ความรับผิดชอบในความถูกต้องตามแบบพิธีหรือกระบวนการได้มาโดยถูกต้องและสมบูรณ์ 
  • ความรับผิดชอบในข้อความเอกสารที่นำขึ้นกล่าวบังคมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
  • ความรับผิดชอบในสารัตถะที่ถูกต้องและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน 

นายวิรุฬห์ แสงเทียน : ข้อเท็จจริงรับฟังๆได้ว่าผู้ถูกร้องที่สอง เคยต้องโทษตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงานประสานงานให้ผู้ถูกร้องที่สองนำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฏีกา โดยที่รู้หรือควรรู้ภายในถุงกระดาษนั้นมีเงินสดอยู่และผู้ถูกร้องที่สองมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วยในลักษณะเป็นตัวการร่วม 

โดยมีเจตนาจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ที่อาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์ต่อจำเลยในคดีหมายเลข อม 1/2550 ซึ่งเป็นลูกความของผู้ถูกร้องที่สอง

การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 อนุมาตรา 1 มาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน 

ผู้ถูกร้องที่สอง ซึ่งประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมายย่อมตระหนักดีว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือ ความศรัทธาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลากรในอำนาจตุลาการจึงลงโทษสถานหนักให้จำคุกผู้ถูกร้องที่สอง และผู้ถูกกล่าวหาอื่นรวม 3 คน คนละ 6 เดือน 

ในเดือนกันยายน 2552 คณะกรรมการมารยาททนายความ สภาทนายความ พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ผู้ถูกร้องที่สองถูกลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล ตามคำสั่งศาลฎีกาข้างต้นเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงศาล

ทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษาและกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นการกระทำผิดข้อบังคับสภาทนายความด้วย มารยาททนายความ 2529 ข้อ 6 และข้อ 18 โดยลบชื่อผู้ถูกร้องที่สองและผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องออกจากทะเบียนทนายความ

ต่อมามีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่หนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2566

โดยไม่ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรี แต่ในพระบรมราชโองการประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2567 ผู้ถูกร้องที่หนึ่งได้นำความกราบบังคมทูลว่าสมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสม และบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และปรากฏชื่อผู้ถูกร้องที่สองได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

จึงมีมูลกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุไม่มีความซี่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 อนุมาตรา 4 และอนุมาตรา 5

อันเนื่องมาจากการเสนอชื่อผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรีหรือไม่
ข้อที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องรู้หรือควรรู้ว่าผู้ถูกร้องที่สองมีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 อนุมาตรา 4 และอนุมาตรา 5

เนื่องจากผู้ถูกร้องที่สองเคยโดนโทษจำคุก เป็นเวลา 6 เดือน ฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาอื่นรวม 3 คน ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599 /2551 และถูกสภาทนายความลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ 

แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การถูกลงโทษตามคำสั่งศาลให้จำคุกคดีดังกล่าวได้พ้นโทษเกิน 10 ปี ถือเป็นข้อยกเว้นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามของความเป็นรัฐมนตรี

แต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นความเห็นที่จำกัดเฉพาะกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 อนุมาตรา 6 และมาตรา 98 อนุมาตรา 7 และมาตรา 160 อนุมาตรา 7 เท่านั้น ไม่รวมถึงลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 อนุมาตรา 4 อนุมาตรา 5 

เมื่อพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2566 ไม่ปรากฎชื่อของผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรีแต่ภายหลังปรากฎชื่อผู้ถูกร้องที่สองตั้งแต่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2567 

จึงมีปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้ถูกร้องที่หนึ่งรู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่สองตามที่ถูกกล่าวหาว่า อาจมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ไม่ว่าอนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งอย่างชัดเจนหรือไม่ 

จากการไต่สวนผู้ถูกร้องที่หนึ่งและนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงว่า กระบวนการเสนอชื่อบุคคลเพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมมหากรุณาธิคุณเพื่อทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีในเบื้องต้น ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรี

โดยสำนักเลขาธิกาคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำแบบแสดงประวัติและคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีได้ตรวจสอบและกรอบข้อมูลรับรองตนเอง แล้วนำส่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการตวจสอบและยืนยันคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลนั้น เช่น การเป็นบุคคลล้มละลาย ข้อมูลคดีแพ่ง คดีอาญา

รวมทั้งบุคคลดังกล่าวได้ชี้แจงหรือหารือกรณีข้อมูลไม่ครบถ้วน หากพบประเด็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามจะดำเนินการหารือไปยังสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา และจัดทำเอกสารสรุปการตรวจสอบประวัติรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีต่อไป 

รู้แต่ยังตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรี 

พิจารณากระบวนการดังกล่าว เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ถูกร้องที่หนึ่งต้องทราบถึงประวัติ รวมถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกร้องที่สอง 

จากเอกสารสรุปการตรวจสอบประวัติที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอขึ้นมาและในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องที่หนึ่งชี้แจงว่า ได้พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีผู้ถูกร้องที่สองเคยได้รับโทษจำคุกตามคำสั่งศาลฏีกาที่ 4599/2551 ฐานละเมิดอำนาจศาลปี 2551

รวมถึงการลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความเพราะประพฤติผิดมารยาททนายความ ตั้งแต่ปี 2552 มาพิจารณาด้วย ประกอบกับไม่มีพฤติการณ์หรือการกระทำอื่นใดของผู้ถูกร้องที่สองจะถูกหยิบยกขึ้นมาโต้แย้ง 

รวมทั้งไม่พบว่า ผู้ถูกร้องที่สองมีพฤติการณ์หรือการกระทำอื่นใดเป็นพิเศษ หรือถูกฟ้องเป็นคดีอาญาจึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องที่หนึ่งพิจารณาข้อเท็จจริงและใช้วิจารณญาณในการวินิจฉัยเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ของผู้ถูกร้องที่สองแล้วเห็นว่า ผู้ถูกร้องที่สองไม่ได้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 

“ข้อเท็จจริงสอดคล้องกับคำชี้แจงของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ว่า เมื่อตรวจสอบเริ่มมีข้อสงสัยในข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 จึงรายงานต่อผู้ถูกร้องที่หนึ่งและผู้ถูกร้องที่หนึ่งขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว” 

ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่หนึ่งได้รู้ หรือ ควรรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่สองตามที่ถูกกล่าวหาว่า อาจมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ไม่ว่าอนุมาตราใด อนุมาตราหนึ่งแล้ว ก่อนการตัดสินใจเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรี  

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ : ข้อพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อผู้ถูกร้องที่หนึ่งรู้หรือไม่รู้พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่สองดังกล่าวแล้ว แต่ยังเสนอชื่อแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีฉบับวันที่ 27 เมษายน 2567 เป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องที่หนึ่งไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 อนุมาตรา 4 หรือไม่ เห็นว่า

พฤติการณ์ที่ผู้ถูกร้องที่สอง ถูกลงโทษจำคุกดังกล่าวและการถูกลงโทษให้ลบชื่อออกจากสารบบทนายความเพราะผิดมารยาททนายความเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันและวิชาชีพทนายความ เป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณทนายความอย่างมาก เป็นการแสดงว่าเป็นผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ 

เพราะความหมายของคำว่าซื่อสัตย์และคำว่าสุจริต ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบเท่านั้น แต่ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธา เชื่อถือได้ ซึ่งต้องเป็นการกระทำให้วิญญูชนทั่วไปที่ทราบพฤติการณ์หรือการกระทำนั้นแล้วยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ หากเป็นหรือว่าหากเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้นย่อมถือได้ว่า มิใช่เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 

ข้ออ้าง ไม่รู้ ฟังไม่ขึ้น  

โดยข้อเท็จจริงนั้น ต้องเป็นที่ยุติแล้ว ข้อเท็จจริงนั้นต้องไม่มีเหตุหรือเงื่อนไขใดให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้อีก แต่เมื่อถูกร้องที่สองมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง อนุมาตรา 4 การที่ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง เสนอชื่อผู้ถูกร้องที่สองให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปนั้น ย่อมปฏิบัติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเสนอบุคคลที่ไม่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีให้พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 

“แม้ผู้ถูกร้องที่หนึ่งจะอ้างว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่สองขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือ ไม่เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหาร ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ”

ประกอบกับหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือความไว้วางใจต่อสาธารณชนนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาวะวิสัย

ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ วุฒิการศึกษา หรือประสบการณ์โดยเฉพาะ เพียงความถนัดรู้ถึงมาตรฐานเยี่ยงวิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว 

“ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่สองดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนรู้ทั่วไป การกระทำของผู้ถูกร้องที่สองอันเป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกนั้น เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่ผิดไปจากปกติวิสัยที่วิญญูชนทั่วไปจะประพฤติปฏิบัติ”

เมื่อผู้ถูกร้องที่หนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนำความขึ้นกราบบังคมทูลทั้งที่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 160 อนุมาตรา 4 โดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน  หรือแม้คำนึงถึงมาตรฐานบุคคลทั่วไป และไม่คำนึงถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 

การที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอบุคคลใดแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีนั้น มิได้อาศัยเฉพาะแต่เพียงความไว้วางใจส่วนตนโดยแท้ เพราะนอกจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบรัฐสภาแล้ว 

คณะรัฐมนตรีซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแต่ละคน ต้องได้รับความเชื่อถือ และไว้วางใจจากสาธารณชนหรือประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริง อันเป็นความเชื่อถือและ และไว้วางใจในทางความเป็นจริงด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์สำคัญ ในการป้องกันบุคคลที่ปราศจากคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการบริหารปกครองบ้านเมืองตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) (5) บัญญัติให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสำคัญที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้เพิ่มเติม จากลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีที่เคยมีมาในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้

ขาดคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ดังนั้น แม้นายกรัฐมนตรี จะวินิจฉัยเสนอแต่งตั้งบุคคลที่ตนไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีตามที่ตนเองเห็นสมควร หรือตามครรลองประเพณีทางการเมือง แต่บุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอันเป็นข้อกฎหมายที่วินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 บุคคลนั้นต้องมีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจจากสาธารณะชน หรือประชาชนตามมาตรฐานวิญญูชนด้วย 

“ดังนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4)” 

ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งครั้งที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในคราวการเสนอการแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2566 เฉพาะกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเฉพาะกรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) (7) เท่านั้น 

แต่การเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี เมื่อครั้งวันที่ 27 เม.ย. 2567 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ถูกร้องที่ 1 สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 เพิ่มเติมแต่อย่างใด

ผู้ถูกร้องที่1และนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวประกอบเอกสารหลักฐานจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รับฟังได้ว่า

การเสนอชื่อบุคคลต่างๆให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 1 ก.ย. 2566 และฉบับลงวันที่ 27 เม.ย. 2567 มีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามโดยหน่วยงานที่มีอำนาจและหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี หรือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามกรอบหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของตน 

เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีรายใดก็ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว นายกรัฐมนตรีปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป เห็นว่า 

การเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง นอกจากการพิจารณาความเห็นและข้อหารือกฎหมายจากองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ถูกร้องที่หนึ่งในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกสรรบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของวิญญูชนว่าน่าเชื่อถือและไว้วางใจด้วย

“การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ชี้แจงว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองจำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือ รัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้”

เพราะหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือไว้วางใจจากสาธารณะชนไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ต้องอาศัยความรู้หรือความชำนาญประสบการณ์ที่ต้องศึกษาโดยเฉพาะ เพียงความตระหนักรู้ ตามมาตรฐานวิญญูชนบุคคลทั่วไปก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ข้อเท็จจริงปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่ศาลสั่งลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 ล้วนเป็นข้อเท็จจริง ที่สาธารณะชนต่างรู้กันโดยทั่วไป แม้กรณีดังกล่าวพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกร้องที่ 2 และพวกเป็นคดีอาญา ในข้อหาให้สินบนต่อเจ้าพนักงานหน้าที่ หรือความผิดอาญาอื่นก็ตาม

แต่การฟ้องคดีอาญาเป็นการดำเนินคดีทางกฎหมายที่มุ่งจะกล่าวโทษความผิดต่อบุคคลที่ให้ต้องถูกลงโทษอาญา ซึ่งเป็นโทษที่ถึงแก่ชีวิตสิทธิเสรีภาพ เนื้อตัว ร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง 

ดังนั้น มาตรฐานในการพิจารณาว่าจะฟ้องหรือจะลงโทษอาญาต่อบุคคลใดจึงต้องพิสูจน์ความผิดให้ครบองค์ประกอบความผิดฐานนั้น การที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้น ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือหรือความน่าไว้วางใจทางการเมือง ที่พิจารณาจากมาตรฐานของวิญญูชน  

การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 2 อันเป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งลงโทษนั้น เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดแจ้ง เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่ผิดไปจากปกติวิสัยที่วิญญูชนทั่วไปประพฤติปฏิบัติ เช่น การนำเงินสดจำนวน 2 ล้านบาทใส่ถุงมามอบให้แก่เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกา โดยอ้างว่าหยิบสลับกับถุงขนมช็อกโกแลต เป็นพฤติการณ์ที่วิญญูชนยากจะเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นได้ 

โดยผู้กระทำการและผู้ร่วมกระทำการ เป็นบุคคลที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่อาจปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำได้ ดังนั้นผู้ที่เคยมีพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมไม่มีความน่าเชื่อถือไว้วางใจที่จะเป็นรัฐมนตรี 

“เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังคงเสนอให้แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตามพระบรมราชโองการฯลงฉบับวันที่ 27 เม.ย. 2567 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)” 

เอาประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ส่วนรวม 

นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ : ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลดังกล่าว

และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบบุคคลดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 นำความกราบบังคมทูล เพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ถอนชื่อ จากบัญชีเสนอชื่อแต่งตั้งรัฐมนตรีในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 

“เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง รวมถึงรู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หรือผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 ให้ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ถือเอาประโยชน์ส่วนตนเหนือกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ และเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวม 

ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม เป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการสมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี”

ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระพ.ศ 2561 ข้อ 7, 8, 11, 17 และ 19 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรคสอง บัญญัติให้ใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีด้วย ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) 

เห็นว่าการวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีคนใดมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีผู้นั้น จะต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 

ส่วนหน้าที่และอำนาจของศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) กำหนดให้มีอำนาจวินิจฉัยคดีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากมีเหตุสงสัยว่า มีพฤติกรรมซึ่งกระทบต่อความเชื่อถือ และไว้วางใจจากสาธารณชนเพื่อการวินิจฉัยว่าผู้นั้นเป็นผู้สมควรที่จะมีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในขณะนั้นหรือไม่ 

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้ ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2 ดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4)

ย่อมเป็นการกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 
รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและ องค์กรอิสระ พ.ศ 2561 หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวดหนึ่งให้ถือว่า มีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) ด้วย 

“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐาน ทางจริยธรรม อย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5)”

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำ มาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งต่อไป