7 อรหันต์ ก.พ.ค.ตร. ชี้ชะตา “บิ๊กโจ๊ก” 30 วันรู้ผล

28 มิ.ย. 2567 | 07:16 น.
อัพเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2567 | 07:36 น.

เปิดโฉม 7 อรหันต์ ก.พ.ค.ตร. ชี้ชะตาบิ๊กโจ๊ก “สมรรถชัย วิศาลาภรณ์” นำทีมสอบคำอุทธรณ์ อีก 30 วันรู้ผล เผยผลออกได้ 4 แนวทาง “ไม่รับอุทธรณ์ – ยกอุทธรณ์ – วินิจฉัยให้แก้ไข - ยกเลิกคำสั่งลงโทษและให้เยียวยาความเสียหาย” : รายงานพิเศษ โดย..ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

KEY

POINTS

 

  • มติ ก.ตร. 12 ต่อ 0 ยืนยันเห็นชอบกับคำสั่งของ “บิ๊กต่าย” ขณะรักษาการ ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมาย  

 

  • นายกฯ บอกอีก 30 วัน ผลสอบของ ก.พ.ค.ตร. น่าจะสรุปออกมาได้ หลัง “บิ๊กโจ๊ก”อุทธรณ์คำสั่ง ส่วนเรื่องทูลเกล้าฯ คงพักไปก่อน

 

  • ผลสอบ ก.พ.ค.ตร. ถ้าเป็นผลบวก “บิ๊กโจ๊ก” กลับปฏิบัติหน้าที่ รองผบ.ตร. แต่ถ้าเป็นผลลบคงดิ้นต่อไปด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
     

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติ 12 ต่อ 0 ยืนยันเห็นชอบกับคำสั่งของ บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร ใช้อำนาจขณะรักษาการ ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมาย  

นายกฯให้รอก.พ.ค.ตร. 30 วัน 

โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปยื่นร้องกับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ซึ่งอีกประมาณ 30 วัน ก็น่าจะตัดสินได้แล้ว 

ส่วนเรื่องการทูลเกล้าฯ หลังให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน คงพักไปก่อน รอให้ ก.พ.ค.ตร. มีมติที่ชัดเจน แล้วค่อยมาว่ากัน

ขณะที่ก่อนหน้านั้น นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ ก็ออกมาระบุถึงกรณีของบิ๊กโจ๊กว่า “ในชั้น ก.พ.ค.ตร. ได้รับเรื่องไว้นานแล้ว ฉะนั้นเวลาน่าจะเหลือประมาณ 1 เดือน หากผลตัดสินของ ก.พ.ค.ตร. ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไปร้องศาลปกครองได้อีก

ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เอง ก็ออกให้สัมภาษณ์ว่า “ต้องรอผลการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. หากผลวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ออกมาเป็นลบกับผม ก็จะนำผลไปร้องศาลปกครอง แต่ถ้าศาลปกครองผลออกมาเป็นลบ ก็จบ ผมก็ต้องต่อสู้ต่อไป”  

พร้อมยืนยันว่า “สัปดาห์หน้า ผมเตรียมฟ้องนายกฯ และ ก.ตร. ทั้งคณะ ยืนยันว่าไม่ได้ท้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้เป็นศัตรู แต่มองว่าเป็นเรื่องถูกผิด เป็นเรื่องความยุติธรรม ซึ่งต้องถามกลับว่า ถ้าโดนบ้างจะสู้หรือไม่”

“บิ๊กโจ๊ก”อุทธรณ์ก.พ.ค.ตร.    

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกับ ก.พ.ค.ตร. ขอให้เพิกถอนคำสั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

คำอุทธรณ์ของ “บิ๊กโจ๊ก” จะฟังขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค.ตร. จำนวน 7 คน ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 356/2566 ลงวันที่ 28 พ.ย. 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ขึ้น

เปิดโฉม 7 อรหันต์ ก.พ.ค.ตร.

สำหรับ ก.พ.ค.ตร. 7 คน ประกอบด้วย 

1.นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ เป็นประธาน (ประธานแผนกคดีบริหารงานบุคคล ในศาลปกครองสูงสุด)
มีกรรมการประกอบด้วย 

2.นายธวัชชัย ไทยเขียว (อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม)

3.พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี (อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ)

4.นายวันชาติ สันติกุญชร (อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ, อัยการอาวุโส)

5.พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ (อดีต ผู้ช่วย ผบ.ตร.) 

6.พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม (อดีต ที่ปรึกษา (สบ10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

และ 7. พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน เป็นกรรมการและเลขานุการ (อดีตผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)                  

ขั้นตอนวินิจฉัยอุทธรณ์ ก.พ.ค.ตร.

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 นายธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งใน ก.พ.ค.ตร. และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชี้แจงถึงกรณีข้าราชการตำรวจอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ว่า กระบวนการขั้นตอนการดำเนินการกรณีดังกล่าว เมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง 

ประธาน ก.พ.ค.ตร. มอบหมายกรรมการคนหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวนพิจารณาสำนวนอุทธรณ์ว่า เป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องครบถ้วนและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

เมื่อถูกต้องครบถ้วนการพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เว้นแต่มีเหตุขัดข้องพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 60 วัน และให้บันทึกเหตุขัดข้องไว้ 

กรรมการสั่งรับอุทธรณ์แล้ว ให้มีคำสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน หรือ ภายในระยะเวลาที่กรรมการ 

เจ้าของสำนวนกำหนด โดยส่งสำเนาคำอุทธรณ์และสำเนาพยานหลักฐานไป หรืออาจจะกำหนดประเด็นให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาด้วยหรือไม่ก็ได้

เมื่อได้รับคำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีมาแล้ว กรรมการจะต้องส่งสำเนาคำแก้อุทธรณ์พร้อมทั้งสำเนาพยานหลักฐานกลับให้ผู้อุทธรณ์ทราบ   

หากข้อมูลยังไม่เพียงพอ กรรมการก็อาจออกคำสั่งเรียกให้ส่งสำนวนการสอบสวนและการลงโทษ หรือ เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องภายในเวลาที่กำหนด หรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งพยานหลักฐานหรือ เอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือเรียกคู่กรณีมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อ ก.พ.ค.ตร. ตามที่เห็นสมควรได้

เมื่อได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงมาแล้ว กรรมการจะพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้มาทั้งหมด และเห็นว่าไม่มีกรณีที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก็ให้มีคำสั่งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยแจ้งให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน 

กรรมการจัดทำบันทึกสรุปสำนวนเสนอต่อ ก.พ.ค.ตร. เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และขอกำหนดวันพิจารณาวินิจฉัย และแจ้งวันประชุมพิจารณาวินิจฉัยให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน 

ระหว่างก่อนถึงวันพิจารณาวินิจฉัยและมีมติ คู่กรณีมีสิทธิยื่นคำแถลงเป็นหนังสือในเรื่องนั้น ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ 

วันพิจารณาวินิจฉัยคู่กรณีสามารถมาแถลงด้วยวาจาต่อ ก.พ.ค.ตร. ในการประชุมพิจารณาวินิจฉัยก็ได้  
                               
ผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. จะออกมาว่า ไม่รับอุทธรณ์ ยกอุทธรณ์ หรือ มีคำวินิจฉัยให้แก้ไข หรือ ยกเลิกคำสั่งลงโทษและให้เยียวยาความเสียหายให้ผู้อุทธรณ์ รวมทั้งเร่งรัดติดตามการเยียวยา หรือ ให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม 

แต่จะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้ แต่เห็นสมควรเยียวยาความเสียหายให้ผู้อุทธรณ์ หรือ ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอาจกำหนดไว้ในคำวินิจฉัย โดยให้คำนึงถึงความเสียหายที่ชัดแจ้งซึ่งผู้อุทธรณ์ได้รับ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของผู้อุทธรณ์ที่พึงได้รับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นประกอบด้วย 

นอกจากนี้อาจกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อการแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาทุกข์ก่อนที่ ก.พ.ค.ตร. จะมีคำวินิจฉัยด้วยก็ได้ 

การกำหนดวิธีการดังกล่าว ให้คำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งหากเห็นว่า คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุพิพาทนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองนั้น ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ  

เมื่อ ก.พ.ค.ตร. มีมติออกมาประการใด ก็จะแจ้งคำวินิจฉัย หรือคำสั่งนั้นให้คู่กรณีทราบ พร้อมแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดด้วย 

คำวินิจฉัยออกมาประการใด ผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งลงโทษต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ก.พ.ค.ตร. มีคำวินิจฉัย และถ้าไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ให้ถือว่าเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น

ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบ หรือ ถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.  

ก่อน หรือ ระหว่างการพิจารณาวินิจฉัย ผู้อุทธรณ์สามารถคัดค้านกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้ แต่ในทางปฎิบัติมีแนวทางภายในของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. หรือ เจ้าหน้าที่ที่มีเหตุแห่งการคัดค้าน ตามข้อกฎหมายจะถอนตัวด้วยตนเองก่อนเลยครับ

ขณะที่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม" วันที่ 27 เม.ย. 2567 ระบุถึงกรณีการให้ออกจากราชการไว้ก่อนว่า

“ให้ออกไว้ก่อน เป็นเพียงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และงดเงินเดือนในระหว่างการสอบสวนทางวินัยเท่านั้น สถานะตำแหน่งยังคงเดิม มิใช่การลงโทษ โทษจริงๆ ต้องเป็น “ปลดออก”หรือ “ไล่ออก” เข้าใจกันให้ถูกต้องนะครับ”

หากเป็นอย่างที่ “นายกฯ เศรษฐา” บอกไว้ อีก 30 วัน จะทราบผลการอุทธรณ์ ก.พ.ค.ตร. ของ “บิ๊กโจ๊ก” 

มารอดูกันว่า ผล ก.พ.ค.ตร. ที่จะออกมา จะเป็น “ผลบวก” หรือ “ผลลบ” ต่อ “บิ๊กโจ๊ก”

ถ้าเป็นผลบวก “บิ๊กโจ๊ก” ก็สามารถกลับปฏิบัติหน้าที่ รองผบ.ตร. และเป็นแคนดิเดตในตำแหน่ง ผบ.ตร.ต่อไปได้

แต่ถ้าเป็นผลลบ “บิ๊กโจ๊ก” ก็คงต้องดิ้นต่อไป ด้วยการยื่นฟ้องต่อ “ศาลปกครอง”

“สงครามตำรวจ” คงยังไม่จบลงง่าย ๆ

แต่เบื้องต้นต้องไปรอลุ้นก่อนว่า มติ ก.พ.ค.ตร. จะออกมาเช่นไร 

ชะตา “บิ๊กโจ๊ก” อยู่ในมือ 7 อรหัน์ ก.พ.ค.ตร.แล้วตอนนี้!!!