สิงหาคม 2567 ชี้ชะตา"ยุบพรรคก้าวไกล?"

06 เม.ย. 2567 | 09:22 น.

สิงหาคม 2567 นี้ จะได้รู้กันว่าพรรคก้าวไกล จะถูก “ยุบพรรค” และขุนพลแถว 2-3 จะได้เวลา“ออกศึก”ทดแทนรุ่นพี่หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ให้คำตอบ : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดย...ทีมข่าวการเมือง

สถานการณ์ของ “พรรคก้าวไกล” เข้าสู่แดนอันตราย ที่อาจนำไปสู่การ “ยุบพรรค” ได้ 

หลังจาก เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีและมีมติ “รับคำร้อง” คดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคําร้องกรณีมีหลักฐาน อันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) 

ข้อเท็จจริงปรากฏตามคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 (คดีแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.) พรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่

หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกําหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคําสั่งยุบพรรค ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง  

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทําการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคําสั่งรับคําร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ กกต.ทราบ และส่งสําเนาคําร้องให้พรรคก้าวไกล ยื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสําเนาคําร้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54

“ก้าวไกล”สู้ยุบพรรคเต็มที่

 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องยุบพรรคก้าวไกลไว้พิจารณา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลา 15 วัน ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พรรคได้เตรียมการมาพอสมควรก่อนหน้านี้แล้ว 
“หากดูจากระยะเวลา คงเป็นช่วงหลังสงกรานต์ เราจะถือโอกาสนี้ในเวลาใกล้เคียงกันแถลงต่อสู้คดีต่อสาธารณะด้วย ไม่ใช่แค่ยื่นต่อสู้ในศาลอย่างเดียว”  

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากที่อภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เสร็จ (3-4 เม.ย. 67) เราจะมีประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค ในวันเสาร์ที่ 6 เม.ย. ซึ่งเป็นการประชุมทุกปี คงจะเป็นโอกาสได้พูดคุยกับสมาชิกพรรค ทั้งที่เป็น ส.ส. และเป็นตัวแทนสมาชิกพรรคทั่วประเทศ

“ตอนนี้เดินหน้าสู้คดีอย่างเต็มที่ เราเห็นว่ายังมีข้อโต้แย้งในทางกฎหมายที่จะต้องต่อสู้กันอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่จะมาเป็นเหตุผลในเรื่องของกฎหมายด้วย” นายชัยธวัช ระบุ

“สิงหาคม”ลุ้นยุบก้าวไกล?

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกล ไว้วินิจฉัย และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันแล้ว นั่นหมายความว่า พรรคก้าวไกลจะต้องยื่นคำชี้แจงต่อศาลภายในเดือน เม.ย.นี้ 

หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หากยังมีข้อสงสัยอยู่ อาจให้พยานที่แต่ละฝ่ายยื่นเข้ามา มาเบิกความแก่ศาลรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อศาลพิจารณาคำเบิกความพยานเอกสาร พยานบุคคลเสร็จแล้ว จึงกำหนดนัดวันฟังคำวินิจฉัย

คาดว่าช่วงเวลาที่ศาลรัฐธรรมนุญ จะนัดฟังคำวินิจฉัยได้ประมาณเดือน ส.ค. 2567 หรืออีกราวกว่า 4 เดือน 

ส่วนความเป็นไปได้ในผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มี 2 แนวทางคือ

1.ไม่ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่กล่าวหาจริง

 2.ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ หรือเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมกับตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี 

                             สิงหาคม 2567 ชี้ชะตา\"ยุบพรรคก้าวไกล?\"

กก.บห.ส่อเว้นการเมือง

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ “ยุบพรรคก้าวไกล” จะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา แก้ ม.112 อ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีจำนวน 11 คน ซึ่งเป็นชุดที่มี นายพิธา เป็นหัวหน้าพรรค (พ.ศ.2563-2566) และ ชุด นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค (พ.ศ.2566) รวมจำนวน  11 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ประกอบด้วย

1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค 2.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 3.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา กก.บห. สัดส่วนภาคเหนือ

6.สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห. สัดส่วนภาคใต้ 7.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห. สัดส่วนภาคกลาง 8.เบญจา แสงจันทร์ กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออก 9.อภิชาติ ศิริสุนทร กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10.สุเทพ อู่อ้น กก.บห.พรรค สัดส่วนปีกแรงงาน 11.อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.พรรค สัดส่วนภาคเหนือ (ชุด ชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค) 

มารอดูกันว่าในที่สุดแล้ว “พรรคก้าวไกล” จะต้องปิดฉากลงตามรอย “พรรคอนาคตใหม่” ไปอีกพรรคหนึ่งหรือไม่?

+++++++

ขุนพลแถว 2-3 รองรับยุบก้าวไกล

หากพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง ฉากทัศน์ต่อไป จะมีการโอนถ่าย ส.ส.-สมาชิกที่เหลืออยู่ ไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็น “พรรคขนาดเล็ก” ที่อยู่ในขั้วฝ่ายค้าน

ที่จะมีการตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ หรือ อาจสวมพรรคเก่าที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องตั้งพรรคใหม่ เพียงแค่เลือกหัวหน้าพรรค และ กรรมการบริหารพรรค รวมทั้งจัดวางผู้บริหารใหม่เพื่อขับเคลื่อนพรรคต่อไป สำหรับขุนพลแถว 2-3 ที่มีสำรองไว้ อาทิ  

ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค, เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล, อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล อดีตผอ.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ซีอีเอ 

นอกจากนี้ยังมี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม,สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, ณัฐวุฒิ บัวประทุม, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, หมอวาโย-วาโย อัศวรุ่งเรือง, รอมฎอน ปันจอร์, ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, วรรณวิภา ไม้สน, จุลพงศ์ อยู่เกษ 
แม้กระทั่ง พิจารณ์ เชาวพัฒวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มือทำงานที่อยู่หลังบ้านพรรคก้าวไกล

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล, เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล, ลิซ่า-ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล  

ขุนพลแถว 2-3 จะได้เวลา“ออกศึก”ทดแทนรุ่นพี่หรือไม่ ...ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ให้คำตอบ