เปิดโอกาสกลับบ้าน "ยิ่งลักษณ์" ตามรอย "ทักษิณ" อภัยโทษ-คุมประพฤติ

04 มี.ค. 2567 | 08:10 น.

เปิดหนทาง-โอกาสกลับบ้านของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ตามรอย "นายกฯพี่ชาย-ทักษิณ" ขอพระราชทานอภัยโทษ-พักโทษ คุมประพฤติบ้านพักย่านรามอินทรา หลังศาลฎีกาฯนักการเมืองพิพากษายกฟ้อง "คดีโรดโชว์ 2020"

เป็นอีก 1 คดีที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับ "ข่าวดี" ภายหลังศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” พร้อมกับ “ถอนหมายจับ” ในคดีจัดอีเวนต์ “โรดโชว์ 2020” 

ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการ สมช. ขณะนั้น ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ไม่มี "เจตนาพิเศษ"  

ขณะเดียวกันคดีที่อยู่ในชั้นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีระบายข้าว "จีทูจีภาคสอง" ป.ป.ช.มีรายงานเมื่อปลายปี 65 ว่า ป.ป.ช.มีมติ "ยกคำร้อง" ทั้งทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ 

อย่างไรก็ตาม “ยิ่งลักษณ์” โดนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 5 ปี ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว  

โอกาสกลับบ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หาก "เธอ" ตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทยเหมือนกับ “ทักษิณ ชินวัตร” นักโทษเด็ดขาด ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษจำคุก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน เหลือ 1 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างพักโทษ-คุมประพฤติ 

อันดับแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องของพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์

โดยระยะเวลาการยื่นฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด

สำหรับขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ทางแรก ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง (บิดามารดา บุตร คู่สมรส) สามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ/ทัณฑสถาน หรือ กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือ กระทรวงการต่างประเทศ หรือ สถานทูต หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ

จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ สำนักราชเลขาธิการ

เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ทราบ

ทางที่สอง กรณีไม่มีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำขอพระราชทานอภัยโทษให้ก็ได้

หากพระราชทานอภัยโทษให้อาจจะเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด โดยให้ปล่อยตัวไปหรือพระราชทานอภัยโทษให้เป็นบางส่วน เช่น ลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตหรือลดโทษจากกำหนดระยะเวลาต้องโทษเดิม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส่วนในรายที่ไม่พระราชทานอภัยโทษให้ จะมีหนังสือสำคัญแจ้งผลฎีกา โดยอ้างพระราชกระแสว่าความทราบฝ่าละลองธุลีพระบาทแล้วมีกระแสให้ยกฎีกา หนังสือสำคัญดังกล่าวนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแจ้งพระราชกระแส

ทั้งนี้ ถ้ามีพระราชกระแสให้ยกฎีกาแล้ว จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้น 2 ปีนับแต่วันถูกยกครั้งก่อน คือ จะต้องรอให้พ้น 2 ปีไปก่อนจึงจะยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปใหม่ได้

ทว่าโอกาสที่ “ยิ่งลักษณ์” จะได้กลับบ้านไป “พักโทษ” ที่บ้านย่านรามอินทรา เหมือนกับ “ทักษิณ” ที่อยู่ระหว่างคุมประพฤติที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่นั้น หนทางอาจจะแคบกว่า “นายกฯพี่ชาย” 

นอกจากต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 เนื่องจากระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ปี 66 ที่ทักษิณ ใช้เป็นหลักเกณฑ์ “พักโทษ” คือ เป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และ ป่วยขั้นวิกฤต ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้   

แต่ไม่ปิดประตูตาย เพราะสุดท้ายยังให้อำนาจ “อธิบดีกรมราชทัณฑ์” ให้มีอำนาจชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ - การออกหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพิ่มเติม