กกต.เปิดไทม์ไลน์เลือกตั้ง ส.ว. เดือน ก.ค.2567 ได้ตัวจริง 200 คน

04 มี.ค. 2567 | 05:09 น.

กกต.ติวเข้มรับการเลือกตั้ง ส.ว. คาดผู้สมัครนับแสนคน เดือน ก.ค.2567ได้ตัวจริง 200 คน ย้ำศึกษาระเบียบ-คุณสมบัติก่อนลงสนาม เตือนพรรคการเมืองอย่าจุ้น

วันนี้ (4 มี.ค. 67) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) พร้อมทั้งพบปะพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางและการบูรณาการความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเลือก ส.ว. 

นายอิทธิพร กล่าวตอนหนึ่งว่า วาระของส.ว.ชุดปัจจุบัน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พ.ค.2567 และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. อีก 15 วัน หลังจากนั้นจะมีการรับสมัครส.ว.เป็นเวลา 5 วัน ต่อด้วยอีก 5 วันจะเป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัคร และหลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ 

 

จากนั้นอีก 7 วันจัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด ต่อจากนั้นอีก 10 วันถึงจะเลือกให้เลือกระดับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือน ก.ค.2567 เมื่อรู้ผลแล้วกฎหมายระบุว่า ให้กกต.รอไว้ก่อน 5 วัน เผื่อมีประเด็นอะไรต่างๆ ที่จะต้องทบทวน แล้วจึงประกาศผล

“การเลือกส.ว.ครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้สมัครประมาณ 100,000 คน เมื่อทำการเลือกในระดับอำเภอ อำเภอหนึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 3 คน 1 อำเภอ 20 กลุ่ม เป็น 60 คน โดยอำเภอทั่วประเทศ คือ 928 อำเภอ เมื่อรวมแล้วจะมี 55,680 คน 

 

ทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด เพื่อเลือกผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศ รวม 3,080 คน จากนั้นการเลือกระดับประเทศจะเหลือ 200 คน จำนวน 20 กลุ่มๆ ละ 10 คน"

ประธาน กกต.ย้ำว่า ตัวเลขผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นส.ว. 1 แสนคนเป็นตัวเลขประมาณการเบื้องต้น แต่หากมีตัวเลขมากกว่านี้ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะประชาชนที่สนใจสามารถสมัครได้และถึงเวลาก็ไปเลือกกันเองกับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ยิ่งหากมีจำนวนมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี 

ขณะนี้ได้แจ้งไปยังกกต.จังหวัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าหากประชาชนสนใจจะลงสมัคร สามารถสอบถามขั้นตอนและข้อมูลได้ที่ กกต.จังหวัด ถือเป็นความพยายามประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนที่สนใจ

การเลือกส.ว.ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2560 เคยเลือกส.ว.มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปลายปี 2561 แต่ตอนนั้นเป็นการเลือกตามแบบบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นการเลือกกันเองรอบเดียว และเป็นการเลือกเฉพาะ 10 กลุ่มอาชีพ ซึ่งยุบรวมมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ

แต่ครั้งนี้จะเป็นการเลือกส.ว. เต็มรูปแบบที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเลือกกันเอง โดยผู้สมัครด้วยตนเอง จำนวน  3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และ ระดับประเทศ

“ฝากผู้สมัครว่ากรุณาศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครให้ดีๆ และสำรวจตัวเองว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์อาชีพ และความกลุ่มอาชีพใด เพราะมีกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสมัครให้ถูกกลุ่ม 

และศึกษารูปแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและบทกำหนดโทษ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งมีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 แก้ไขรองรับออกมาแล้ว หากมีข้อสงสัยต้องการข้อมูล สามารถสอบถามได้ จากสำนักงานกกต. ประจำจังหวัดต่างๆ สายด่วนกกต. 1444 หรือ Application Smartvote