เปิดความเห็นกฤษฎีกา คุมออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล 10,000

09 ม.ค. 2567 | 02:28 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2567 | 05:46 น.

เปิดความเห็นกฤษฎีกาคณะที่ 12 ตอบกลับออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แจกดิจิทัลวอลเลตคนละ 10,000 บาท 50 ล้านคน ทำได้ แต่ต้องไม่ขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลังฯ 5 มาตรา ชี้ แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์ ตีความ วิกฤต-จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่

วันนี้ (9 มกราคม 2567) แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า หนังสือตอบกลับของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ได้ตอบกลับกระทรวงการคลังถึงกรณีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาทได้หรือไม่ เพื่อดำเนินนโยบายแจกเงินคนละ 10,000 บาทให้กับบุคคลสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 50 ล้านบท ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขต้องมีรายไม่เกิน 70,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท ว่า

"ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด” คือ ออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก. ซึ่งกฤษฎีกาตอบกลับไปว่า “ได้” แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เช่น ต้องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แก้ไขวิกฤตของประเทศ หรือต้องเป็นไปตาม มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินนัยการเงินการคลังฯ หากสามารถตอบเงื่อนทั้งหมดได้ก็สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการตีความว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต ต่อเนื่องและจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีตัวเลขเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ

สำหรับมาตรา 53 ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงาจของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 57 การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว 

มาตรา 6 รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรและพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคมและต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 

มาตรา 7 การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย 

มาตรา 9 คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด 
ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ 

คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจองประเทศและประชาชนในระยะยาว