ดันท่าเรือระนอง สู่ฮับขนส่งสินค้าฝั่งอันดามัน

06 ต.ค. 2566 | 03:24 น.

การท่าเรือแห่งประเทศไทย ดันท่าเรือระนองเข้าแผน AEC -BIMSTEC MODEL สู่การเป็นฮับขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดันท่าเรือระนอง เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าฝั่งอันดามัน-ประเทศในกลุ่มบริมเทคตามแผน AEC – BIMSTEC  MODEL ที่พุ่งเป้าให้ท่าเรือเรือระนองเป็นตัวศูนย์กลางเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ทางทะเลจากอาเซียนสู่ประเทศกลุ่ม BIMSTEC ได้แก่ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย เมียนมา เนปาล ภูฏาน และไทย

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร อดีตรองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ (บธ)   กล่าวในระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ จ.ระนองเพื่อร่วมเวทีเสวนาสร้างความเชื่อมั่นขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางท่าเรือระนอง ว่า

กทท.มุ่งมั่นที่จะผลักดันท่าเรือระนองให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังบริษัทสายการเดินเรือได้เข้ามาเปิดเส้นทางการเดินเรือที่ท่าเรือระนองทำให้กทท.ปัดฝุ่น”โครงการคอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ จ.ชุมพร” อีกครั้ง หลังโครงการหยุดชะงักมาระยะหนึ่ง 

ความคืบหน้าได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ที่จะดำเนินการต่อเพื่อสนับสนุนท่าเรือระนอง  และจะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการขนถ่ายสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์จากฝั่งอ่าวไทยมายังฝั่งอันดามัน โดยการขนส่งจากแหลมฉบังมายัง จ.ชุมพร พักถ่ายที่ศูนย์คอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ชุมพร เพื่อขนส่งต่อมายังท่าเรือระนอง กระจายสู่ประเทศในฝั่งทะเลอันดามันต่อไป  เนื่องจากลดต้นทุนได้มากกว่าท่าเรือที่สิงคโปร์ ซึ่งคิดอัตราค่าบริการสูงมาก 

ขณะนี้ทางการท่าเรือกำลังศึกษารายละเอียดก่อนที่จะเสนอเรื่องงบการลงทุนต่อรัฐบาลต่อไป ซึ่งทำได้จะทำให้สามารถเชื่อมโยงท่าเรือระนองกับท่าเรือในอ่าวไทยได้และจะเป็นจุดสำคัญที่จะพัฒนาต่อยอดการเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์อื่นๆต่อไป ซึ่งโครงการนี้เป็นไปได้มากกว่าเรื่องคอคอดกระมาก

ดันท่าเรือระนอง สู่ฮับขนส่งสินค้าฝั่งอันดามัน

 เรือโทกมล กล่าวต่อว่าที่ผ่านมา กทท.ได้ทำพิธีลงนามข้อตกลงร่วมกับบริษัท เอ็น ซี แอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด(มหาชน) เพื่อให้มีการเปิดบริการเส้นทางเดินเรือประจำระหว่างท่าเรือระนอง กับท่าเรือย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ว่า การเปิดบริการเส้นทางเดินเรือประจำระหว่างท่าเรือระนอง กับท่าเรืออาห์โลน เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า 

จากเดิมส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง ที่ต้องต้องเดินเรืออ้อมแหลมมลายู   ใช้เวลาประมาณ 10 วัน  แต่หากนำสินค้าจากส่วนกลาง บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ทางรถยนต์มาส่งที่ท่าเรือระนอง  จะย่นระยะเวลาได้ 3 - 6 วัน  อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางฝั่งทะเลอันดามันอีกด้วย

สำหรับจุดแข็งของท่าเรือระนอง  คือกายภาพที่มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลฝั่งอันดามัน และจะเป็นฮับ ในขนส่งทางทะเล ของกลุ่มประเทศบิมเทค  ที่มีเอเชียใต้ได้ แต่ต้องมีการพัฒนาและสนับสนุนเป็นขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก จะต้องเชื่อมโยงท่าเรือระนองกับ ท่าเรืออาห์โลน เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เข้าด้วยกัน  

ทั้งนี้  บริษัท เอ็น ซี แอลฯ  ได้นำเรือตู้สินค้าชื่อ Munich Trader ซึ่งเป็นเรือที่เช่ามาจากประเทศสิงคโปร์ มีขีดความสามารถในการบรรทุกตู้สินค้าได้ไม่เกิน 12,000 DWT. มีความยาว 147 เมตร กินน้ำลึก 7.5 เมตร เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือระนอง

โดย กทท.ได้ให้สิทธิ์ในการนำเรือตู้สินค้าเข้าเทียบท่าในลักษณะ Priority Berth ประมาณ 4 เที่ยวต่อเดือน    ปริมาณตู้สินค้าจะเพิ่มจากหลักสิบ เป็นหลักร้อย และเป็นหลักพัน ผลที่ได้รับ คือจะเป็นการพลิกโฉมของประเทศไทยให้ก้าวเป็นผู้นำการขนส่งทางทะเลอันดามันอย่างแน่นอน