หนังชีวิต! ศาลรธน.นัดถกต่อสถานะรมต."ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" 20 ก.ย.

13 ก.ย. 2566 | 08:48 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2566 | 09:08 น.

ศาลรธน.นัดถกสถานะรมต."ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" ต่อ 20 ก.ย. พร้อมสั่งไม่รับคำร้องปม "วันนอร์" ขวางโหวตชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกฯ รอบ 2 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ

วันนี้ (13 ก.ย. 66 ) ศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ในขณะนั้นจำนวน 54 คน ขอให้วินิจฉัยว่า นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในขณะนั้น ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน และยังคงเป็นผู้ถือหุ้น เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นอย่างแท้จริง ทำให้ นายศักดิ์สยาม เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้น หรือ กิจการของห้างหุ้นส่วน 

อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ โดยศาลได้กำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไป ในวันพุธที่ 20 ก.ย.นี้ เวลา 9.30 น

นอกจากนี้ ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่นายบัณฑิต พุ่มทิพย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 ว่า การกระทำของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภา มีคำสั่งให้ลงมติในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 

โดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติว่า ไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ตาม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 เป็นการจงใจให้พรรคพวกของตนได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่ 

ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ผู้ถูกร้อง มีความมุ่งหมาย และความประสงค์ หรือ การกระทำใด ที่น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง