จาก "ธนาธร" ถึง "พิธา" เส้นทางคดีหุ้นสื่อ ที่คล้ายกัน

20 ก.ค. 2566 | 08:15 น.

จับตา ประวัติศาสตร์ส่อซ้ำรอยหรือไม่ เมื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ติดบ่วงปมถือหุ้นไอทีวี คล้ายกับเมื่อ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เจอคดีเดียวกันในการถือหุ้น ต่างกันเพียงชื่อบริษัท

จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกลหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.หลังรับคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อพิจารณาคุณสมบัติความเป็น สส.ของนายพิธากรณีถือหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้นว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่  

น่าสนใจว่าเมื่อได้ลองย้อนกลับไปเคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วในวันที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลพิพากษา ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. หลังจากที่นายธนาธร ได้รับเลือกเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ได้ไม่นาน

กระทั่งวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษาให้สถานะภาพความเป็น สส.ของนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่สิ้นสุดลงจากการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ส่งผลให้นายธนาธรต้องยุติอนาคตทางการเมืองลงอย่างน่าเสียดาย 

คดีหุ้นสื่อของธนาธร

พาย้อนกลับไปในวันที่ 16 พ.ค. 62 กกต.ได้มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ธนาธร กรณีถือครองหุ้นสื่อ ภายหลังการประกาศรับรองรายชื่อสส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 149 คน รวมถึงนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 8 พ.ค. 62 

จากนั้นในวันที่ 23 พ.ค. 62 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับพิจารณาคุณสมบัติของนายธนาธร และมีมติ 8 ต่อ 1 เสียงสั่งให้ "ธนาธร" หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.

สองวันถัดมา (25 พ.ค. 62) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ครั้งที่ 1 "ธนาธร" ต้องออกจากห้องประชุมสภาตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ณ เวลานั้น นายธนาธร แถลงว่า "แล้วสักวันผมจะกลับมา" 

ระหว่างนี้นายธนาธร ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอเข้าทำหน้าที่ในสภา โดยร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายกเลิกคำสั่งกรณีให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องดังกล่าวด้วยเหตุผลว่า ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง 

จนถึงวันที่ 20 พ.ย. 62 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 7 ต่อ 2 เสียงวินิจฉัยว่า ณ วันรับสมัคร สส. คือ วันที่ 6 ก.พ.2562 นายธนาธรถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธรสิ้นสุดลง โดยนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2562

 

คดีหุ้นไอทีวีของพิธา

ในขณะที่การถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา นั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับคดีของนายธนาธรอยู่ไม่น้อย เริ่มจาก กกต.ประกาศรับรอง สส. รวมถึงนายพิธา สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ต่อมาในวันที่ 9 มิถุนายน 2566 กกต.ได้มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครแต่ยังฝืน พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนขึ้นมาดำเนินการ

ในการประชุม กกต.ซึ่งใช้เวลาต่อเนื่องรวม 2 วัน ระหว่าง 12-13 กรกฎาคม 2566 ได้มีมติเห็นว่า สมาชิกภาพของนายพิธา มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) พร้อมส่งเรื่องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 

กระทั่งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย 

เส้นทางการเมืองของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทุกย่างก้าวกำลังจะซ้ำรอย นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และจะเดินไปถึงทางตันเช่นเดียวกันหรือไม่คงต้องติดตาม