วิบากกรรม “พิธา-ก้าวไกล” พ้นส.ส.-ยุบพรรค-คุก?

15 ก.ค. 2566 | 03:00 น.

คดีรุม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กระหน่ำ “พรรคก้าวไกล” แต่ละคดีล้วนมีโทษหนัก อาจนำไปสู่การ พ้น ส.ส. ยุบพรรค ตัดสิทธิการเมือง และ โทษจำคุก

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึง “พรรคก้าวไกล” เจอแรงเสียดทานทางการเมืองกระหน่ำเข้าไปหลายคดี 

แต่ละคดีล้วนมีโทษหนักหนาสาหัส ที่อาจนำไปสู่การพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. การยุบพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือ แม้แต่โทษจำคุก

คดีถือหุ้นสื่อไอทีวี

ไปไล่เรียงดูคดีแรกกันก่อน เป็นคดีที่เกิดจากการถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล

โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี เข้าข่ายเป็นการถือครองหุ้นสื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ หลังเห็นว่า สมาชิกภาพของ นายพิธา มีเหตุสิ้นสุดลง

ช่วงเย็นวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ยืนยันว่า ได้รับคำร้องของ กกต. จำนวนเอกสารหลักฐาน 3 ลังไว้ในคำร้องทางธุรการแล้ว รอเสนอเข้าคณะเล็กเพื่อกลั่นกรอง ก่อนบรรจุเข้าวาระการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยปกติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ ดังนั้น ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ อาจมีการพิจารณาของคณะตุลาการฯ 

ทั้งนี้ ในการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว ก็จะพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงตามคำร้อง หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องจริง ก็จะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน รวมทั้งอาจสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย

ในคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี ของ นายพิธา นี้ ทาง นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา ได้เคยออกมาแสดงความเห็นถึงอัตราโทษไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า นายพิธา ขาดคุณสมบัติจะเข้าความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 151 

โดยระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ ยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และ ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี

และกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้ศาลสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ที่ได้รับมาระหว่างดำรงตำแหน่งด้วย

ส่วน นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นว่า หาก นายพิธา ผิดฐานรู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อ แต่ไปเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าพรรค เท่ากับไปรับรองทั้งที่ตัวเองไม่มีคุณสมบัติ ซึ่งจะส่งผลให้การลงสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็น “โมฆะ” ไปด้วย

“ส่วนตัวมองว่าหากจะเป็นโมฆะ ควรจะเป็นเฉพาะเขตที่ผู้สมัครพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ควรโมฆะทั้งหมด แต่บางฝ่ายเห็นว่าต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ เพราะคะแนนที่พรรคก้าวไกลได้ไป ทำให้คะแนนเสียงของคนอื่นๆ ผิดเพี้ยน ไม่ตรงกับความจริง คะแนนจึงไม่ควรเสียเฉพาะพรรคก้าวไกล แต่เสียทั้งระบบ เพราะหากนายพิธา ไม่เซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ประชาชนอาจไปพิจารณาเลือกพรรคอื่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นอย่างไร และมีคำวินิจฉัยเช่นใด” 

                         วิบากกรรม “พิธา-ก้าวไกล” พ้นส.ส.-ยุบพรรค-คุก?

แก้ม.112 โทษยุบพรรค 

ไปดูคดีที่สอง เกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 66 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคำร้องที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาล รธน. พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่...พ.ศ...เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ 

หลังศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายธีรยุทธ ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อร้องขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง แล้ว แต่ อสส.ไม่ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ที่ นายธีรยุทธ จะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 

และเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7(3) แล้ว แจ้งให้ นายธีรยุทธ ทราบ  และให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลฯ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54 และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาแจ้ง อสส. ว่าหากได้รับพยานหลักฐานใดเพิ่มเติมให้จัดส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

สำหรับกรณีการแก้ไข หรือ ยกเลิก ม.112 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นความผิด จะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 20 ที่เป็นการกระทำและพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ หรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ เป็นเหตุอาจนำไปสู่การร้องให้ยุบพรรคได้ ตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้แก่

(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“พิธา”เจ้าของสำนักพิมพ์

ไปดูคดีที่สาม กรณีการเป็นเจ้าของกิจการหนังสือ โดยเป็นเรื่องที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบสมาชิกภาพของนายพิธา ว่า สิ้นสุดลงตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ 

เนื่องจากข้อมูลจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ นายพิธา ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า นายพิธา เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และเป็นผู้เขียนหนังสือ 4 รายการ คือ หนังสือวิถีก้าวไกล ความรัก คือการตกหลุมรักหลายๆ ครั้ง ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน ด้วยรักจากอนาคต 

ทั้งเป็นเจ้าของสิทธิในหนังสือดังกล่าว โดยมีรายได้จากการขายหนังสือ จำนวน 431,712 บาท เป็นรายได้ระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉลี่ย 107,928 บาทต่อปี นายพิธา จึงอาจมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ซึ่งหาก กกต.พบว่า นายพิธา เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมญดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

3 กรณี 3 คดีนี้ ถือเป็น “วิบากกรรม” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ที่จะต้องเผชิญ มารอลุ้นกันว่าผลสุดท้ายจะเป็นเช่นไร