ลุ้นคดีสลายชุมนุม 53 "ธาริต" ยื่นเปลี่ยนองค์ผู้พิพากษาก่อนฟังคำตัดสิน

10 ก.ค. 2566 | 04:27 น.

“ธาริต เพ็งดิษฐ์” ฟังคำพิพากษาคดีสลายชุมนุม 53 หลังเลื่อนมาครบ 10 ครั้ง ยื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อ้างมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. 

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาคดีที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ยื่นฟ้องนายธาริต และชุดพนักงานสอบสวนดีเอสไอรวม 4 คน ฐาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกลั่นแกล้งผู้อื่นให้ได้รับโทษทางอาญา จากการกล่าวหาว่าใช้อาวุธสั่งฆ่าประชาชนจากการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 หลังจากเลื่อนฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา จากปัญหาสุขภาพครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 10 

นายธาริต กล่าวก่อนขึ้นฟังคำพิพากษาว่า เช้าวันนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาโต้แย้งคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาชุดเดิมที่ได้พิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเพิ่งได้รับหลักฐานที่เชื่อได้ว่า นายสุเทพ ในฐานะอดีตแกนนำกปปส. มีความเกี่ยวข้องกับอดีตประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาอีกจำนวนหนึ่ง

ลุ้นคดีสลายชุมนุม 53 \"ธาริต\" ยื่นเปลี่ยนองค์ผู้พิพากษาก่อนฟังคำตัดสิน

อีกทั้งนายสุเทพได้เคยยื่นฟ้องว่านายธาริต กลั่นแกล้งให้ได้รับโทษในคดีทุจริตก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน จึงเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีนี้อีก โดยคำร้องครั้งนี้ได้ขอให้ศาลฎีกาทบทวนคำพิพากาษา และให้เข้าในองค์ประชุมใหญ่ศาลฎีกา  เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทบทวนคำพิพากษา และใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย รวมทั้งไม่เชื่อมั่นในอดีตประธานศาลฎีกา และผู้พิพากาษาบางคน

นายธาริต ยังระบุว่าหากวันนี้ศาลฎีกา มีคำพิพากษาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์  ก็อาจจะส่งผลต่อคดีของกลุ่มนปช.ที่ปัจจุบันที่ผ่านมาแล้ว 13 ปี ที่ไต่สวนสาเหตุการตายไปเพียง 27 คน จาก 99 คน ส่วนบางคดีพนักงานสอบสวนยุติการทำคดีไปแล้ว เนื่องจากไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และบางส่วนเมื่อถึงชั้นอัยการศาลทหารก็สั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว ทั้งที่มีพยานหลักฐานว่าการไต่สวนสาเหตุการตายว่ามาจากกระสุนฝ่ายทหาร

ลุ้นคดีสลายชุมนุม 53 \"ธาริต\" ยื่นเปลี่ยนองค์ผู้พิพากษาก่อนฟังคำตัดสิน

ส่วนกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายราเมศ รัตนะเชวง ออกมาเปิดเผยว่า นายธาริต เลอะเลือนที่ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพนั้น นายธาริต กล่าวว่า คดีนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คดีของกลุ่มนปช. ที่ออกมาเคลื่อนไหวซึ่งขณะนั้นก็ได้แจ้งข้อกล่างหาดำเนินคดีกับแกนนำที่กระทำความผิดแล้ว

อีกส่วนคือ การดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ที่พบหลักฐานว่าเป็นผู้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธจริงในการควบคุมสถานการณ์ จึงเห็นว่านานิพิฏฐ์ และนายราเมศ เป็นนักการเมืองที่บิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมกับตั้งคำถามกลับว่าใครกันแน่ที่เลอะเลือน

ขณะที่การต่อสู้ในคดีนี้ตลอดทั้ง 3 ศาล นายธาริต ระบุว่า กรณีที่สำนักงานป.ป.ช. มีมติว่านายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ไม่ใช่ว่าจะยังไม่มีความผิด เพราะหลังจากศาลฎีกายกฟ้องคดีแล้ว ได้ส่งสำนวนให้สำนักงาน ป.ป.ช.ไปไต่สวนอีกครั้ง ก่อนที่จะให้กลับมายื่นฟ้องใหม่ พร้อมขอให้สื่อมวลชนไปติดตามกับ ป.ป.ช.ว่าคดีดังกล่าวไปถึงไหนแล้ว 

ลุ้นคดีสลายชุมนุม 53 \"ธาริต\" ยื่นเปลี่ยนองค์ผู้พิพากษาก่อนฟังคำตัดสิน

ส่วนคำพิพากษาในวันนี้หากตัดสินว่าตัวเองมีความผิด ก็จะถือว่ารับรองการออกคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ใช้อาวุธจริงสลายการชุมนุมเป็นไปด้วยชอบแล้ว รวมทั้งผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และผู้เสียชีวิต 99 คน ก็จะไม่ได้รับโอกาสลดใช้ค่าเสียหาย และตัวเองก็ต้องโทษจำคุก 

นายธาริต ยืนยันว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาพิจาณาในวันนี้ไม่ใช่การประวิงเวลา แต่เพิ่งได้รับหลักฐานมาจึงต้องร้องให้ตรวจสอบ ส่วนจะต้องใช้เวลาอีกนานหรือไม่ในการพิจารณาคำร้อง ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลฎีกา นอกจากนั้นก็ได้ส่งคำร้องขอให้ศาลฎีกา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการฟ้องตามกฎหมายมาตรา 157 และ 200 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกหนึ่งคำร้อง 

ขณะที่นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โจทก์ในคดี เห็นว่าการแถลงของนายธาริต เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ และเห็นว่าคดีนี้นายธาริต ขณะเป็นอธิบดีดีเอสไอ ได้ทำคดีของกลุ่ม นปช. ว่าก่อการร้าย แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็กลับทำคดีใหม่กล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ สั่งฆ่าประชาชนในการสลายชุมนุม นปช. จากการออกคำสั่งของผู้อำนวยการศอฉ.

ส่วนการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้ศาลฎีกาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับข้อกฎหมายมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาว่าจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ที่นายธาริต กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยพร้อมจะชดใช้เงินหลักแสนบาทให้กับโจทก์ทั้งสองคน แต่ทั้งสองคนปฏิเสธรับเงิน ไม่ได้มีเงื่อนไขที่ว่าส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

นายสวัสดิ์ ยังระบุว่า ตั้งแต่เป็นทนายความมายังไม่เคยเห็นว่าจำเลยจะขอเลื่อนฟังคำพิพากษาถึง 10 ครั้ง จากการอ้างว่าเจ็บป่วย คดีนี้ถือเป็นคดีแรก เช่นเดียวกับคดีทุจริตสร้างสถานีตำรวจ นายธาริตก็ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาเช่นกันแต่ไม่เยอะเท่าคดีนี้ ส่วนวันนี้ศาลจะอ่านคำพิพากษา หรือเลื่อน ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของศาล หลังจากที่นายธาริต ได้ขอยื่นคำร้องใฟ้ศาลฎีกาพิจารณาเพิ่มเติม