“ไชยันต์ ไชยพร” ถอดรหัสโหวตนายกฯ ผ่าทางตันตั้งรัฐบาล

08 ก.ค. 2566 | 09:14 น.

“ไชยันต์ ไชยพร” ถอดรหัสโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ผ่าทางตันตั้งรัฐบาล ชี้สุดท้ายตั้งรัฐบาลไม่ได้ เสียงไม่ถึง 376 เสียง ยังมีอีกหลายทางออก ทั้งการเลือกนายกฯ คนนอก ยุบสภา รักษาการยาว

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ว่าล่าสุดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานรัฐสภา ได้มีการแจ้งกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป

โดยรอบแรก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เบื้องต้นมีการวิเคราะห์กันว่าการโหวตนายกฯ ครั้งนี้อาจได้เสียงไม่ถึง 376 เสียง

ล่าสุดวันนี้ (8 กรกฎาคม 2566) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ระบุว่า “หากไม่มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใดได้เสียงถึง 376 หลังให้มีการลงคะแนนเสียงอยู่หลายครั้งแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป ?”

 

ภาพประกอบข่าวโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตั้งรัฐบาล

ศ.ดร.ไชยันต์ ขยายความต่อว่า กรณีดังกล่าวถือว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใต้รายชื่อแคนดิเดทตาม ม 88 ของรัฐธรรมนูญ 2560 การไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จะนำไปสู่ความจำเป็นที่จะต้องหานายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่า จะต้องรวมเสียง ส.ส. ได้ 250 และไปยื่นกับวุฒิสภาเพื่อขอเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงมติให้ ส.ส. สามารถเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่แต่ละพรรคได้เสนอไปในตอนสมัครรับเลือกตั้ง 

การที่มตินี้จะผ่านได้ก็ต้องได้เสียงจากสองสภารวมแล้ว 500 เสียง (สภาผู้แทนฯมี ส.ส. 500 วุฒิสภาขณะนี้มี ส.ว. 250)  เมื่อผ่านแล้ว ก็จะกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร

คราวนี้ พรรคการเมืองที่มี ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไปสามารถเสนอบุคคลนอกบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่เคยมีการเสนอมาก่อน และถ้ามีเสียงสนับสนุนรวมสองสภาถึง 376 บุคคลนั้นก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งการเสนอชื่อบุคคลจะเสนอชื่อตามบัญชีรายชื่อเดิมก็ได้

แต่ถ้ามติไม่ผ่าน คือไม่ได้เสียงสนับสนุนถึง 500 ก็ไม่สามารถปลดล็อกให้มีการเสนอชื่อคนนอกบัญชีรายชื่อได้ และจะเข้าทางตันจริง ๆ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกไว้ว่า จะต้องทำอย่างไรต่อ เมื่อไม่มีบทบัญญัติไว้

รัฐธรรมนูญก็มีมาตรา 5 คือ ให้ใช้ประเพณีการปกครอง ซึ่งตามประเพณีการปกครองแบบรัฐสภาโดยทั่วไป มีทางออกสองกรณี นั่นคือ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือ ยอมให้มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่ถึง 376 ได้

หรือหากไม่ต้องการใช้มาตรา 5 ก็คงต้องปล่อยให้มีนายกรัฐมนตรีรักษาการไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่วุฒิสภาชุดนี้จะหมดวาระ พร้อมกับเงื่อนไขการให้วุฒิสภามีอำนาจในการเห็นชอบผู้ที่ ส.ส. เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ภาพประกอบข่าวโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตั้งรัฐบาล

 

เพื่อไทย ยืนยันหนุน "พิธา" ตั้งแต่รอบแรก

ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลยังมั่นใจว่าชื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้รับเลือกตั้งแต่รอบแรก ตามที่มติของ 8 พรรคร่วม จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ เพราะจากการฟังพรรคก้าวไกลแล้วมั่นใจว่า ส.ว.ส่วนใหญ่สนับสนุนนายพิธา

ส่วนการเสนอชื่อนายพิธาโหวตเป็นนายกฯ จะมีกี่ครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องของพรรคเพื่อไทยเพราะแกนนำ 8 พรรคต้องมาคุยกัน เพราะเราเดินไปไหน ไปด้วยกัน และตอนนี้ไม่มีแผนสำรองหากในรอบแรกโหวตไม่ผ่านก็คงต้องกลับมาคุยกันอีกครั้ง