ปม“พิธา”ถือหุ้นสื่อ แค่กกต.มีข้อมูลเพียงพอยื่นศาลรธน.ได้ทันที

29 มิ.ย. 2566 | 06:31 น.

“แสวง”เปิดขั้นตอน กกต. ยื่นศาลรธน.วินิจฉัยปม“พิธา”ถือหุ้นสื่อ แค่เห็นมีข้อมูลเพียงพอส่งได้ทันที ไม่ต้องเรียกเจ้าตัวแจงก่อน ส่วนสอบ ม. 151 ใกล้เสร็จ “ก้าวไกล”เสียวต่อ นายทะเบียนฯ สั่งสอบเพิ่มนโยบายยกเลิก ม.112 แม้เคยตีตกคำร้องไปแล้ว

วันนี้ (29 มิ.ย. 66) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิตเดนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนโดยเฉพาะตัวกฎหมาย เนื่องจากมีพื้นฐานมาจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. 

แต่เมื่อมาปรับใช้กับเหตุการณ์สามารถดำเนินการได้หลายวิธี โดยถ้าเป็นก่อนการเลือกตั้ง การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครส.ส. ตามกระบวนการจะเชิญผู้สมัครมาชี้แจงหรือไม่ก็ได้ แต่สุดท้ายจะต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา

แต่ถ้าหลังการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจะดำเนินการตามมาตรา 151 ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการดำเนินคดีอาญา ต้องดูเอกสรหลักฐานอย่างครบถ้วน ปราศจากข้อสงสัย ดูเจตนาประกอบด้วยเพราะเป็นการดำเนินคดีอาญา และต้องแจ้งให้กับผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจง 

ส่วนหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82  วิธีการคือ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาก กกต. เห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอ ก็จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งก่อนการยื่นจะเชิญผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. มาชี้แจงหรือไม่ก็ได้  

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า กกต. ออกหนังสือเชิญ นายพิธา ให้มาชี้แจงแล้ว  นายแสวง กล่าว่า  เป็นอำนาจของคณะกรรมการไต่สวน ตามมาตรา 151 จะพิจารณา ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการไต่สวนจะดำเนินการจนแล้วเสร็จ จึงจะมีการรายงานให้กกต.ทราบ หรือพิจารณา  

กกต.อาจมีสอบถามความคืบหน้าได้ แต่ไม่สามารถไปก้าวก่าย แทรกแซงทั้งการตั้งรูปเรื่อง การหาพยานเอกสาร โดยกรอบการพิจารณา 20 วันแรก จะครบกำหนดกรอบแรกในวันที่ 3 ก.ค. หากพิจารณาไม่เสร็จสามารถยื่นขอขยายเวลาดำเนินการอีก 15 วัน ผ่านเลขาธิการ กกต. เบื้องต้นยังไม่เห็นว่า มีการยื่นหนังสือขอขยายเวลาตรวจสอบ แต่เท่าที่คณะกรรมการไต่สวนรายงานความคืบหน้าต่อกกต.ระบุว่า สอบใกล้แล้วเสร็จ 

“ก่อนที่กกต.จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ สิ่งสำคัญ กกต.ต้องเห็นก่อนแต่ยังไม่ใช่การวินิจฉัย เพียงเห็นว่า มีข้อมูลเพียงพอเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งอาจใช้ข้อมูลจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนก็ได้ หรือ อาจตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ได้ 

เบื้องต้นขณะนี้มีผู้มายื่นร้องให้กกต.ดำเนินการตาม มาตรา 82 แล้ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมกกต.ว่าจะใช้วิธีการดำเนินการอย่างไร  แต่เมื่อ กกต.เห็นจะต้องมีการประชุมอย่างแน่นอน 

“ท่านจะดูว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานแก้ไข เพียงพอส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ต้องมีพยานหลักฐานและต้องเห็นด้วย แต่จะต้องยื่นให้ศาลฯก่อนมีการโหวตนายกฯ หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กกต.ต้องมาพิจารณา”

เลขาธิการกกต.ยังกล่าวถึงการมาพบประธานกกต.ของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ว่า ไม่ได้มาตามเรื่องนายพิธา แต่ได้มาพูดเรื่องการเมือง การเลือกตั้งเกิดปัญหาต้องการการสนับสนุนอย่างไรบ้าง และได้นำหลักฐานประกอบคดีหุ้น นายพิธา มามอบให้ ซึ่งสำนักงานก็จะนำหลักฐานที่ได้ไปประกอบการพิจารณา ทั้งคดีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และกรณีสงสัยคุณสมบัติ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 

เมื่อถามว่ากรณีของนายพิธา กกต.สามารถดำเนินการเป็น “ความปรากฏต่อกกต.” ได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า “ไม่ต้องมีความปรากฏเลย โช๊ะเลย แต่ต้องมีหลักฐาน กกต.ไม่ใช่ผู้ตัดสิน ก่อนเลือกตั้งจะต้องส่งให้ศาลฎีกา ถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้งก็อยู่ในชั้นศาลยุติธรรม

ส่วนได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนกกต.เป็นคนฟ้องว่าข้อมูลหลัก เหตุเพียงพอให้ฟ้องหรือไม่ ก็เหมือนกับกรณีส่งศาลฎีกาพิจารณากรณี 37 ผู้สมัคร ส.ส. ไม่ต้องเชิญใครมาชี้แจง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน 

เมื่อเห็นว่าพอฟ้อง มีหลักฐานก็ฟ้อง แต่ตอนนี้กกต.ยังไม่เห็น แต่กรณี 37 ผู้สมัครส.ส.นั้น กกต.เห็นแล้วก็ส่งศาลฎีกา โดยไม่ได้เชิญใครมาชี้แจง แต่กรณีการดำเนินคดีอาญาตาม มาตรา 151 เป็นระเบียบสืบสวนหากมีการกล่าวหาก็ต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง 

นายแสวง ยังกล่าวถึงกรณีก่อนหน้านี้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นไม่รับคำร้องยุบพรรคก้าวไกล จากเหตุมีนโยบายหาเสียงแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังสั่งอัยการสูงสุดชี้แจงว่ารับหรือไม่รับคำร้องของผู้ที่ยื่นร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ในชั้นของกฎหมายพรรค เราจะพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีอำนาจให้พรรคกระทำหรือไม่ และกระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่  ซึ่งเขียนต่างจากรัฐธรรมนูญ 

แต่ถ้ามีผู้เห็นว่าการกระทำนั้นใช้สิทธิเสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทำให้เป็นการล้มล้างระบบการปกครอง ต้องไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน และแม้นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีความเห็นไม่รับคำร้องกรณีดังกล่าวไปแล้ว

แต่ขณะนี้นายทะเบียนฯ ก็ได้ให้สำนักงานฯ ไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการกระทำตามคำร้องนั้น ๆ เป็นความผิดฐานไหนอีกหรือไม่ตามกฎหมายพรรค ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นฐานความผิดใดได้อีก ขอตรวจสอบก่อน