เลขาฯป.ป.ช.เชื่อ"ส่วยสติ๊กเกอร์" มีเจ้าหน้าที่เอี่ยว

01 มิ.ย. 2566 | 07:30 น.

เลขาฯป.ป.ช.เชื่อ"ส่วยสติ๊กเกอร์" มีเจ้าหน้าที่เอี่ยว อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเอาผิด พร้อมเร่งหน่วยงานรัฐร่วมผลักดัน 6 มาตรการป้องกันทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกินจริง

วันที่ 1 มิ.ย. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงปัญหาส่วยสติกเกอร์ ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนขณะนี้ว่า  โดยส่วนตัวเชื่อว่า"ส่วยสติกเกอร์" น่าจะมีเจ้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการต่อไป

 ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่ร่วมแก้ปัญหาทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ควรมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการติดตามตรวจสอบ เพราะนอกจากจะมีความแม่นยำแล้ว ยังช่วยลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะเป็นการปิดช่องโหว่ของการทุจริตคอร์รัปชันได้
 

นายนิวัติไชย  กล่าวถึงความคืบหน้าในการติดตาม ควบคุม และลดปัญหาการทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ต.ค.64 เพื่อเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหา เพราะเล็งเห็นว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดินและถนนหมดอายุการใช้งานก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้

ทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนน และยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตดังกล่าว ตามที่ ป.ป.ช.เสนอ และกำหนดให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะนำไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 
 

นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องนี้ประกอบด้วย 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84  

2.พิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการควบคุม กำกับ ดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ

3.จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย

4.ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง โดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ การควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และรถบรรทุกต้องจัดให้มีป้ายแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่งด้วย พร้อมทั้งสร้างช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิด

5.ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-speed weigh-in-motion: HSWIV) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge weigh-in-motion: BVIM) มาใช้ในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเพื่อลดปฏิสัมพันธ์และการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการชั่งน้ำหนัก

6.เพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า จากการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้น กระทรวงคมนาคมได้มีการกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาวเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ

อาทิ มีการจัดหลักสูตรอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ให้เข้าใจเกี่ยวกับการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน, กรมทางหลวงได้จัดทำ เอ็มโอยูร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการกับรถบรรทุกที่กระทำผิดอย่างเข้มงวด, นำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทได้มีการนำระบบเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพานมาใช้แล้ว    

ทั้งนี้ ยังขาดการรับรองเครื่องชั่งน้ำหนักจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัดเพื่อให้สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ โดยกระทรวงคมนาคมได้มีแนวทางในการพิจารณารายละเอียดการบันทึกน้ำหนักโดยเครื่องชั่งน้ำหนักขณะรถเคลื่อนที่ หรือ WIM ทุกรูปแบบ และรูปถ่ายจากกล้อง CCTV เพื่อให้สามารถเป็นเครื่องมือตรวจจับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อศึกษาวิจัยความพร้อม

ตลอดจนความเที่ยงตรงของเทคโนโลยีก่อนนำมาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบจับกุมในอนาคต และจะดำเนินการตั้งหน่วยชั่งน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ (Spot Check) เพื่อป้องกันรถบรรทุกหลีกเลี่ยงการเข้าจุดชั่งน้ำหนัก เป็นต้น 

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ป.ป.ช.ได้เร่งผลักดันให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันการทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียกับประเทศชาติ ซึ่งไม่ได้เพียงแต่เรื่องของการบรรทุกน้ำหนักเกิน

รวมไปถึงเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ขับขี่บนท้องถนนด้วย อาทิ การที่รถบรรทุกหนักวิ่งช้าแต่วิ่งเลนขวาสุดตลอดทาง ทำให้รถเล็กที่มีความเร็วมากกว่าต้องขับแซงซ้ายซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เป็นต้น ในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจตรากวดขัน บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงกำชับไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ควรยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้