อนาคตประเทศไทย กับ 8 เรื่องด่วน ที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ

04 เม.ย. 2566 | 09:00 น.

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชี้อนาคตประเทศไทย ยังกังวลต่อนโยบายพรรคการเมืองที่เร่งทำคะแนนเสียง ย้ำต้องทำได้จริง ไม่ขายฝัน ไม่ลืมสัญญา แนะ 8 เรื่องด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การมองอนาคตประเทศไทย หลังการเลือกตั้งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน คือ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และ SME

จากนโยบายแต่ละพรรคที่มุ่งเป้าเศรษฐกิจฐานราก ต้องมีการตั้งเป้าหมาย “ตัวชี้วัดเศรษฐกิจฐานราก” อาทิ เพิ่มจำนวน มูลค่า สัดส่วนของ SME ภาคการส่งออก, เพิ่ม GDP SME ภาพรวมและแยกรายย่อย รายย่อม รายกลาง รวมทั้งการขยับขนาดธุรกิจเติบโตขึ้น เป็นต้น

2. ด้านกฎหมาย เกิดการแก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของ SME ลดความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจและทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจต่ำลง รวดเร็ว สะดวก ง่ายขึ้นและขจัดค่าใช้จ่ายนอกระบบ 3. ด้าน ESG Government รัฐบาลที่ใส่ใจคุณภาพสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อสังคม คุณภาพชีวิตประชาชน ชุมชนให้เป็นสังคมน่าอยู่รองรับสังคมผู้สูงอายุและเป็นรัฐบาลที่เน้นดำเนินการทุกนโยบายด้วยธรรมาภิบาล ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน

แสงชัย ธีรกุลวาณิช

ขณะที่ด้านลบ จะเห็นว่านโยบายต้องทำได้จริง ไม่ขายฝัน ไม่ลืมสัญญา “คิดดี นำเสนอดี ต้องทำเป็น ทำจริง ทำต่อเนื่อง” และแต่ละนโยบายต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ขณะที่นโยบายพัฒนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นเรื่องที่ดี ในการรองรับการแข่งขันของประเทศแต่ต้องสร้างความคุ้มค่า

คำนึงถึงการใช้ประโยชน์และลดภาระของประชาชนในวงกว้างเป็นสำคัญ “ไม่ใช่ทำต้นทุนแพง ประชาชนไม่มีแรงจ่าย” อาทิ ค่ารถไฟฟ้า จูงใจให้ประชาชนพากันใช้หรือเป็นภาระค่าครองชีพ, ค่าอินเตอร์เน็ต และอินเตอร์เน็ตชุมชน จูงใจให้เกิด Digital Economy? รวมทั้ง SME ถูกการค้าเสรีทุนต่างชาติกลืนในรูปแบบต่างๆ หากไร้มาตรการและแนวปฏิบัติที่จะส่งเสริม สนับสนุน SME อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ความกังวลต่อนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนออยู่ในขณะนี้คือ “นโยบายและมาตรการดี แต่ที่มางบประมาณมาจากไหนและยั่งยืนหรือไม่?” ทั้งนี้อยากให้มองว่า

1. นโยบายดีต้องสร้างความยั่งยืนมีการนำเสนอชุดความคิดที่มีการสื่อสารด้วยฐานข้อมูลที่มา วิธีการ เป้าหมายผลลัพธ์ที่ชัดเจน เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนขั้นต่ำต้องนำเสนอกลไกการยกระดับขีดความสามารถแรงงาน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นวงจรคู่ขนาน

แสงชัย ธีรกุลวาณิช

2. “เปลี่ยนแจกเป็นสร้าง” ปรับเชิงรุกกับนโยบายที่ไม่สร้างความยั่งยืน เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทุนมนุษย์ เพื่อสร้างรายได้ครัวเรือนให้เกิดความยั่งยืน อาทิ ลดผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างงาน สร้างอาชีพอย่างเป็นระบบที่มีการตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล และต่อเนื่อง, ลดการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักดั้งเดิมที่มีราคาต่ำ

เปลี่ยนเป็นการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นพืชอนาคตที่มีราคาสูงและเชื่อมโยงกลไกตลาดรับซื้อ ให้ส่งเสริมปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรที่ใช้ตลาดและนวัตกรรมนำการผลิต ลดภาระงบประมาณภาครัฐในการสนับสนุน ปีละกว่า 80,000 ล้านบาทและภาครัฐควรอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนส่งเสริมจับคู่กลุ่มเกษตรกรแทน

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ ต้องเร่งดำเนินการคือ

1. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการและนำรายได้เข้าประเทศ มุ่งเป้าหมายแต่ละภาคเศรษฐกิจ อาทิ ภาคการส่งออก ภาคบริการและท่องเที่ยว ภาคการค้า ภาคการเกษตร

2. ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ต้องมุ่งเป้าปรับโครงสร้างพลังงานประเทศ โดยการกระจายอำนาจพลังงานสีเขียวให้ชุมชน ท้องถิ่น และผู้ประกอบการ SME ที่มีความพร้อม

3. ลดค่าครองชีพประชาชน อาทิ ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

4. ลดดอกเบี้ย มีแต้มต่อ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ ด้วยกลไกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา SME

5. แก้หนี้ สร้างคุณภาพหนี้ครัวเรือน ลดหนี้เสีย ตัดวงจรหนี้นอกระบบ

6. ลดคนว่างงาน และบัณฑิตว่างงาน โดยเชื่อมโยงการยกระดับขีดความสามารถไปพร้อมกับการส่งเสริมจับคู่งานในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดการจ้างงาน และสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

7. ยกระดับขีดความสามารถ ทักษะ สมรรถนะแรงงานและผู้ประกอบการ SME เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนอย่างเป็นระบบ มีการส่งต่อ อาทิ พัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์

8. ลดผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม PM2.5 และสร้างโอกาสผ่านตลาดคาร์บอนเครดิตให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และ SME

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,874 วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2566