ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา คดีขึ้นค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ชอบด้วยกฎหมาย

27 ก.พ. 2566 | 08:34 น.

“ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษายกฟ้อง ปมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องทางหลวง-คมนาคม แก้สัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ เอื้อเอกชน กระทบภาระประชาชนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น ยันปรับขึ้นค่าทางด่วนดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย

รายงานข่าวจากศาลปกครอง เปิดเผยว่า ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและภาคประชาชน ยื่นฟ้องกรมทางหลวง (ทล.) และกระทรวงคมนาคม กรณีอนุมัติแก้ไขบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง - ดอนเมือง (ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์) 

 

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆแล้วเห็นว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง-ดอนเมือง (ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์) ฉบับที่ ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 ให้ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง มีสิทธิขอปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางและหรือขอขยายอายุสัมปทานได้ หากได้รับความเสียหายขาดรายได้ ตามที่เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 6 กำหนด นั้น

 

เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บมจ.ทางยกระดับดอนเมืองหรือถูกฟ้องคดีที่ 3  ขณะที่การปรับอัตราค่าผ่านทางตามบันทึกขอตกลงฯฉบับที่ 3/2550 ที่ให้ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง เฉพาะการกำหนดค่าผ่านทางทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ในช่วงวันที่ 22 ธันวาคม 2552-21 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควร

 

 

ขณะเดียวกันศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2550 ที่มีมติเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง-ดอนเมือง (ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์) ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550

 

เห็นว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไปแล้วว่าสัญญาร่วมลงทุนข้อ 25 ที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าผ่านทางและปรับอายุสัมปทาน เป็นข้อสัญญาที่มีความจำเป็นและมีเหตุผลรับฟังได้ ประกอบกับสัญญาข้อ 25 ไม่ได้มีข้อความใดกำหนดข้อห้ามเด็ดขาดไม่ให้กรมทางหลวง หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 หรือส่วนราชการอื่นกระทำการหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

 


 

ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ไม่ให้มีการจัดเก็บค่าผ่านทางอีกต่อไป เพราะเป็นนโยบายของรัฐที่จูงใจให้มีการใช้ทางยกระดับมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งไม่ได้มีผลให้บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีสิทธิจัดเก็บค่าผ่านทางส่วนต่อขยายช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานโครงการฯตามที่มีการฟ้องร้องกล่าวอ้าง

 

รายงานข่าวจากศาลปกครอง ระบุต่อว่า กรณีที่รัฐบาลใช้งบประมาณก่อสร้างสะพานจุดกลับรถบนถนนวิภาวดีรังสิตเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่ได้รับสัมปทานโครงการฯนั้น การก่อสร้างสะพานจุดกลับรถดังกล่าวไม่ได้อยู่ในสัญญาสัมปทานทางหลวงและการก่อสร้างดังกล่าวเพื่อคงสภาพการใช้งานถนนวิภาวดีรังสิตไม่ให้มีจุดตัดทางแยกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง

 

ส่วนกรณีที่มติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานฉบับที่3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 ไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ปี 2535 นั้น เห็นว่าการเจรจาตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ปี 2535 รวมทั้งการร่างข้อสัญญาได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบหรืออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้ผู้ที่ฟ้องทั้ง 21 ราย รับฟังไม่ได้ 

 

สำหรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฯฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 โดยกำหนดให้ทางหลวงสัมปทานเดิมและทางหลวงสัมปทานส่วนต่อขยายทางด้านทิศเหนือ มีอายุสัมปทาน 27 ปี นับตั้งแต่วันลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2550- 11 กันยายน 2577 ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางที่เรียกเก็บจากยานพาหนะทุกประเภท ดังนี้ 

 

1.อัตราค่าผ่านทางขาเข้า กทม. ช่วงอนุสรณ์สถาน-ดินแดง ด่านดอนเมืองขาเข้า มีอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ อยู่ที่ 30-145 บาท และอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ อยู่ที่ 70-185 บาท ส่วนช่วงดอนเมือง-ดินแดง ด่านหลักสี่ขาเข้าและด่านอื่นๆมีอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ อยู่ที่ 20-100 บาท และอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ อยู่ที่ 50-130 บาท 

 

2.อัตราค่าผ่านทางขาออก กทม. ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ด่านดินแดงและด่านอื่นๆ มีอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ อยู่ที่ 20-90 บาท และอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ อยู่ที่ 50-120 บาท ส่วนช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ด่านหลักสี่ขาออกและด่านอนุสรณ์สถาน มีอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ อยู่ที่ 20-40 บาท และอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ อยู่ที่ 20-50 บาท