ย้อนรอย "คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์" มหากาพย์แห่งยุค

09 ม.ค. 2566 | 17:20 น.

ย้อนรอย คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ มหากาพย์แห่งยุคที่อื้อฉาวและโด่งดังมากที่สุดของไทย หลังมีการนำที่ธรณีสงฆ์ตัดขายในราคา 130 ล้านบาท ให้กับเอกชน

คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ หนึ่งในคดีมหากาพย์แห่งยุคที่อื้อฉาวและโด่งดังมากที่สุดของไทยคดีหนึ่งเพราะมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงในเวลานั้น คดีนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ได้บริจาคที่ดิน จำนวน  924 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา ให้กับ วัดธรรมิการามวรวิหาร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 


กระทั่ง ในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 ที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นธรณีสงฆ์ได้ถูกขายในราคา 130 ล้านบาทและโอนให้กับ บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้น คือ นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ และ นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภริยานายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลกรมที่ดิน

จากนั้น ในปี 2540 ที่ดินผืนนี้ถูกขายต่อในราคา 500 ล้านบาทให้ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) 

 

ถัดมาอีก 5 ปี ในวันที่ 5 มีนาคม 2545 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และรักษาราชการแทนปลัดมหาดไทย ได้ออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดิน จากนั้น นายยงยุทธ ถูกเลือกให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ

 

จากเรื่องราวดังกล่าวข้างต้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณาข้อกล่าวหา นายยงยุทธ กรณีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดิน ซึ่งจดทะเบียนในนาม สนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดิน เลขที่ 20 และเลขที่ 1446  อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อันเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ขณะดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย

ในวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ศาลอาญา คดีทุจริตฯ ชั้นต้น มีคำพิพากษาเห็นว่า การที่ นายยงยุทธ จำเลย พิจารณาอุทธรณ์ และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่จดทะเบียนในนาม "สนามกอล์ฟอัลไพน์" อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นธรณีสงฆ์

 

จากการที่ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่ถึงแก่ความตายแล้วได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารนั้น จำเลยออกคำสั่งโดยมิชอบ โดยจงใจละเลยข้อเท็จจริงต่าง ๆ และยังจงใจตีความกฎหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2482 ที่ระบุให้ กระทรวงถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา


ดังนั้น คำสั่งของนายยงยุทธ จำเลยจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ทั้งยังทำลายศรัทธาของผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมา นายยงยุทธ จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยศาลตีราคาประกัน 5 แสนบาท


ต่อมาในวันที่ 28 ก.พ. 62 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ หมายเลขดำ อท.38/2559 ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157


กรณีระหว่างที่ นายยงยุทธ จำเลย ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาอุทธรณ์ และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมา ให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยปฏิเสธ


ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลอุธรณ์ พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การที่จำเลยขณะดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดมหาดไทย แล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนมติอธิบดีกรมที่ดินเรื่องที่ดินอัลไพน์เป็นที่ธรณีสงฆ์นั้น โดยไม่นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีแนวทางวินิจฉัยไว้แล้วมาพิจารณาประกอบเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริต

 

ทั้งที่แนวทางปฏิบัติเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นมาแล้ว ฝ่ายบริหารจะให้หน่วยราชการยึดถือปฏิบัติธรรมเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินในมาตรฐานทางเดียวกัน เพราะมิเช่นนั้นในแต่ละยุคสมัยจะมีความเห็นต่างกันสร้างความเสียหายแก่ระบบบริหารราชการแผ่นดินได้


การที่จำเลยอ้างว่า คำสั่งของจำเลยนั้นได้ยึดถือตามแนวทางเสียงข้างมากของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของมหาดไทย ซึ่งเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่จำเลยในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยก็สามารถทำได้นั้น ศาลเห็นว่า คณะกรรมการดังกล่าวก็เกิดขึ้นโดยคำสั่งที่จำเลยแต่งตั้งเองขณะที่การบริหารราชการแผ่นดินนั้น

 

ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะผูกพันหน่วยงานราชการด้วยตามแนวทางมติของ ครม. และที่จำเลยอ้างว่า ไม่แน่ว่าถ้ายื่นข้อทักท้วงให้กฤษฎีกา การที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้ส่งกฤษฎีกาแล้วจะรับไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ก็ยังไม่ปรากฏว่า จำเลยได้เคยยื่นข้ออ้างดังกล่าว ทั้งที่ในทางปฏิบัติหากจำเลยเห็นว่า ความเห็นของกฤษฎีกานั้นจะไม่ชอบ ก็สามารถที่จะยื่นให้ทบทวนได้ กรณีที่จำเลยอ้างจึงฟังไม่ขึ้นนั้นและขัดต่อหลักเหตุผล


ขณะที่ในช่วงปี 2545 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลัง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์ต่อจาก นายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งหลังจากนั้นก็พบว่า จำเลยได้รับดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยจนเกษียณราชการ และยังได้รับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ในยุครัฐบาลนายทักษิณ

 

ส่วนที่ ป.ป.ช. ขอให้ลงโทษสถานหนักเพราะการกระทำของจำเลยทำให้เกิดความเสียหายต่อกรมที่ดินเป็นอย่างมาก และอาจจะทำให้ถูกฟ้องเป็นเงินหลายล้านนั้น ศาลเห็นว่า ตามทางนำสืบขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่า มีการฟ้องคดีเกิดขึ้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้นเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

 

ต่อมาในปี 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่อนุญาตให้นายยงยุทธ จำเลยฎีกา ระบุว่า คำร้องฎีกาของนายยงยุทธนั้นไม่ได้แสดงถึงปัญหาข้อเท็จจริง หรือปัญหาข้อกฎหมาย สั่งให้คุมตัวนายยงยุทธ เข้าเรือนจำ กระทั่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 ศาลฎีกาฯ สั่งยกฟ้อง คดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เนื่องจากคดีหมดอายุความ ก่อนที่ ป.ป.ช. จะส่งสำนวนฟ้องนายเสนาะ เทียนทอง