จับตา!ร่างพรบ.ขนส่งทางราง กมธ.วิสามัญ ห่วงอำนาจ รมต. ขัดแย้ง กม.PPP

03 ธ.ค. 2565 | 04:42 น.

ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2 ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ กมธ.วิสามัญฯตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น โดยเฉพาะการให้อำนาจ"รมว.คมนาคม"และการจัดทำรายละเอียดโครงการซ้ำซ้อน และขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ

ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ..เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)หัวใจสำคัญต้องการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทย ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ และจะช่วยคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางอย่างเป็นธรรม 

 

ต่อมาวันที่ 7 ก.ค.2565 ร่างกฎหมายดังกล่าว  ได้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรก มี ส.ส. ส่วนหนึ่งสะท้อนความห่วงใยหลายประเด็น อาทิ กรณีการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมประกอบกิจการขนส่งทางราง ควรดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่ทำให้เกิดการผูกขาดของเอกชนบางรายได้ หรือมีการกำหนดค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรม ควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับแรก รวมถึงต้องพิจารณาเรื่องการทับซ้อนกับอำนาจของกฎหมายฉบับอื่น ๆ ด้วย 

 

แต่ในที่สุด ที่ประชุมสภามีมติรับหลักการ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 250 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง   จากนั้นที่ประชุมมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... รวม 25 คน โดยมี นายศุภชัย ใจสมุทร  เป็นประธานคณะกรรมาธิการ กำหนดการแปรญัตติภายใน 15 วัน 

 

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา  คณะกมธ.วิสามัญฯพิจารณาแล้วเสร็จ และเตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถชี้แจงได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สภาล่ม!อีก ทำให้ต้องรอเข้าสู่การประชุมสภาฯอีกครั้งในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ 
 

จับตา!ร่างพรบ.ขนส่งทางราง กมธ.วิสามัญ ห่วงอำนาจ รมต. ขัดแย้ง กม.PPP

 เปิดข้อสังเกต กมธ.วิสามัญฯ

 

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา  คณะกมธ.วิสามัญฯพิจารณาแล้วเสร็จ และเตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถชี้แจงได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สภาล่ม!อีก ทำให้ต้องรอเข้าสู่การประชุมสภาฯอีกครั้งในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ 

 

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ที่พิจารณาในชั้น กมธ.วิสามัญฯและจะเสนอต่อสภาฯในวาระที่ 2 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นไปตามร่างเดิม ขณะเดียวกันกมธ. วิสามัญฯได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายมาตรา   โดยเฉพาะการให้อำนาจ รมว.คมนาคม เพิกถอนสัญญาสัมปทาน หรืออนุมัติการต่ออายุสัญญาสัมปทาน เป็นการขัดแย้งกับพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP

 

สำหรับข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญ ระบุว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 9 ซึ่งต่อเนื่องไปอีกหลายมาตรา เช่น มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตราอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ที่กำหนดไว้อย่างกว้างขวาง อาจก้าวล่วงให้คณะกรรมการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมการขนส่งทางราง เข้าไปเป็นหน่วยงานผู้มีหน้าที่ดำเนินโครงการ หรือประกอบกิจการเสียเอง ทั้งที่ควรเป็นเพียงผู้กำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางรางเท่านั้น 

 


จากบทกฎหมายและผลที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการออกกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศอีกจำนวนมาก (70 ฉบับ) ดังนั้น ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ ให้กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่จะออกไป ให้สอดคล้องกับบทบาทของกรมการขนส่งทางราง และคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ที่ควรเป็นเพียงผู้กำกับดูแล การประกอบกิจการขนส่งทางรางเท่านั้น

 

จับตา!ร่างพรบ.ขนส่งทางราง กมธ.วิสามัญ ห่วงอำนาจ รมต. ขัดแย้ง กม.PPP

 

ตามมาตรา  22 และมาตรา 23 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำรายละเอียด ของแต่ละโครงการเป็นจำนวนถึง 23 หัวข้อ ซึ่งมีขอบเขตและรายละเอียดกว้างขวาง ทั้งนี้ รายละเอียดที่กำหนดในกฎหมาย ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายละเอียดที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ โดยคณะกรรมการที่พิจารณาดำเนินการ ทั้งกฎหมายฉบับนี้และกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ต่างมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วยกันทั้ง 2 ฉบับ 

 

และมาตรา 24 บัญญัติว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โครงการขนส่งทางรางแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งตามนัยยะดังกล่าวจึงอาจจะเกิดปัญหาคือ

 

(1) ความซ้ำซ้อนของการจัดทำรายละเอียดที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้

 

เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการแล้ว ก็จะต้องมีการจัดทำรายละเอียด ตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดภาระแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงมีการเพิ่มขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินการอีกจำนวนมาก

 

เมื่อคณะกรรมการตลอดจนคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ โครงการขนส่งทางรางโครงการใดแล้ว ต่อมาเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งมีขั้นตอนการเจรจาในรายละเอียดที่จะต้องเป็นที่ตกลงกัน ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนผู้ดำเนินการ ทั้งในเรื่องระยะเวลา การลงทุนผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ว่าจะตกแก่ฝ่ายใดในจำนวนเท่าใด

 

รวมถึงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในการดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่รายละเอียดแทบทั้งหมดที่กล่าวมา ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการ และคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ข้อจำกัดของขั้นตอนในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องมีความเห็นแตกต่างไปจากรายละเอียดในโครงการ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายฉบับนี้ไว้แล้ว

 

กรณีโครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน คณะกรรมการควรกำหนดมาตรการเร่งรัด การพิจารณาและให้ความเห็นชอบ เนื่องจากเป็นการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

 

ตามมาตรา 13 (2) การศึกษาและวิเคราะห์โครงการของหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการ ในการประกอบกิจการขนส่งทางรางโดยกรมการขนส่งทางราง เพื่อเสนอคณะกรรมการประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น กรมการขนส่งทางราง ควรดำเนินการเองเพื่อประหยัดงบประมาณและเวลา ไม่ควรว่าจ้างที่ปรึกษา เนื่องจากเจ้าของโครงการได้ว่าจ้างที่ปรึกษา ให้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการมาอย่างละเอียดแล้ว

 

ในการจัดทำนโยบายและแผนการขนส่งทางราง ตามมาตรา  14 และมาตรา 15 สมควรที่จะคำนึงถึงการพัฒนาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์  รวมทั้งควรเชื่อมโยงด้านโครงข่ายคมนาคม เพื่อประโยชน์ในด้านการค้าการลงทุนในประเทศและภูมิภาค และการกำหนดโครงข่าย หรือแนวเส้นทางของระบบการขนส่งทางราง ต้องเป็นไปอย่างทันสมัย และมีความต่อเนื่องในการให้บริการกับประชาชน

 

ตามมาตรา 22 และมาตรา 23 การเสนอการใช้เส้นทางร่วม และระบบตั๋วร่วมโดยเจ้าของโครงการนั้น คณะกรรมการ ควรกำหนดมาตรการที่จะทำให้เจ้าของโครงการ ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องทุกราย

 

หมวด 4 กรณีรถไฟฟ้า คณะกรรมการควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีผู้ได้รับใบอนุญาตเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขัน เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าจำนวนน้อยราย

 

มาตรา 51 การกำหนดเงื่อนไขของรัฐมนตรี จะต้องไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิและหน้าที่อันเป็นสาระสำคัญของสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาว่าจ้างที่ได้ลงนาม และจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ที่ทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาต

 

ตามมาตรา 64 การกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากราง และทรัพย์สินที่จำเป็น ในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าบริการอื่น คณะกรรมการควรคำนึงถึงกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง และกรณีที่ให้มีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

 

ตามมาตรา 80 กำหนดให้ผู้ที่ขอใช้รางเพื่อการขนส่งร่วมกัน หรือขอเชื่อมต่อรางต้องจ่ายค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็น ในการประกอบกิจการขนส่งทางราง ตามความตกลงระหว่างกัน มีลักษณะเป็นการจ่ายค่าระวาง (ค่าใช้ราง) อันมิใช่เป็นการจัดทำโครงการร่วมลงทุนตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แต่มาตรา 4และมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดว่าในการให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด ๆ

 

ในโครงการร่วมลงทุน ในกิจการอันเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ประเภท รถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ฯ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชนได้มีหนังสือ ลงวันที่ 27 ส.ค. 2565 ตอบข้อหารือมายังกรมการขนส่งทางราง 

 

เกี่ยวกับประเด็นการให้เอกชน เข้าใช้โครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการรับขนส่งสินค้า ว่าต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ ทั้งที่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การให้เอกชนเข้าใช้โครงสร้างพื้นฐาน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว เอกชนมิได้เข้าไปร่วมหรือดำเนินการโดยลำพังในโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศแต่อย่างใด

 

ดังนั้น การจะเข้าใช้รางของเอกชน ตามมาตรา 63 มาตรา 64 และมาตรา 80 ตามกฎหมายฉบับนี้ ย่อมไม่อาจดำเนินการได้ โดยต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ อันจะทำให้ไม่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานทางรางได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเห็นควรนำข้อสังเกตที่กล่าวมาข้างต้น มอบให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พิจารณาทบทวนในประเด็นดังกล่าวว่าไม่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ

จับตา!ร่างพรบ.ขนส่งทางราง กมธ.วิสามัญ ห่วงอำนาจ รมต. ขัดแย้ง กม.PPP

 

เร่งเคลียร์ปมแย้ง กฎหมาย"รฟท.-รฟม."

ตามมาตรา 82 วรรคสอง การให้อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นเลขานุการในช่วงแรก มีความเหมาะสมด้วยความพร้อมของบุคลากรและองค์ความรู้ อย่างไรก็ดี ในอนาคตควรพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุระดับชาติ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่สอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง

 

ตามมาตรา 103 (2) กรณีคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่ ซึ่งต้องมีความรู้และทักษะตามประเภทและลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ โดยต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานหรือสถาบัน ที่กรมการขนส่งทางรางรับรอง หรือหลักสูตรที่กรมการขนส่งทางรางรับรองนั้น กรณีดังกล่าวกรมการขนส่งทางรางควรเร่งรัดดำเนินการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ รวมทั้งมีความพร้อม ในการออกใบรับรอง และให้การรับรองสถาบันหรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

ตามมาตรา 160 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในส่วนของกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่ามีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งหารือ และประสานความเข้าใจ เพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป และกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานองค์กรหรือกรณีที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หากมีความเกี่ยวพันกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกัน เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติให้สอดคล้อง และสามารถปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ตามมาตรา 162 หากในอนาคตมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมบังคับใช้ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงหรือต่ออายุสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางในอนาคต ถ้าข้อสัญญาว่าด้วยอัตราค่าโดยสารและอัตราค่าโดยสารร่วม ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ให้อยู่ภายใต้อัตราค่าโดยสารร่วมสูงสุดที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

 

อัตราค่าธรรมเนียมต้องสะท้อนต้นทุนของภาครัฐ ในการออกใบอนุญาตต่างๆ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ควรพิจารณายกเว้น อัตราค่าธรรมเนียมให้กับหน่วยงานของรัฐเนื่องจากเป็นหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องให้บริการต่อประชาชนโดยตรง