โปรดเกล้าฯ เรียกคืนเครื่องราชฯ ประกอบ วิโรจนกุฏ อดีตอธิการบดีม.อุบลราชธานี

05 พ.ย. 2565 | 00:52 น.

โปรดเกล้าฯ เรียกคืนเครื่องราชฯ  “ประกอบ วิโรจนกุฏ” อดีตอธิการบดีม.อุบลราชธานี เหตุต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก พร้อมเรียกคืนเครื่องราชฯ จาก อดีต“ดาบตํารวจ” เนื่องจากกระทําผิดวินัยร้ายแรงและถูกไล่ออกจากราชการ

เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฏ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ ๒ ประเภทที่ ๒ และเหรียญจักรพรรดิมาลา ซึ่ง นายประกอบ วิโรจนกุฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับพระราชทาน 

เนื่องจากต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก ตามคําพิพากษาของศาลฎีกา ที่ ๓๖๕๕/๒๕๖๔ เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามข้อ ๖ และ ข้อ ๗ (๒) ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘

 

และ นายประกอบ วิโรจนกูฏ เป็นผู้ถูกถอนชื่อออกจากรายชื่อ ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว


ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


ดอน ปรมัตถ์วินัย 


รองนายกรัฐมนตรี

 

                       โปรดเกล้าฯ เรียกคืนเครื่องราชฯ ประกอบ วิโรจนกุฏ อดีตอธิการบดีม.อุบลราชธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2563  ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านคำพิพากษาคดีกล่าวหา ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช). ชี้มูลความผิดกรณีอนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยโดยมิชอบ


โดยศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 (ศาลชั้นต้น) เกี่ยวกับการคำนวณระยะเวลาจำคุก จากเดิม 11 ปี 4 เดือน เหลือจำคุก 9 ปี 28 เดือน เนื่องจากเห็นว่าการกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 1 ปีรวม 2 กระทง

 

ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 3 กระทง และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 8 เดือน 2 กระทง รวมเป็นจำคุก 9 ปี 28 เดือน 

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาในคดีนี้ หลังจาก ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ จำเลยฎีกา ว่า ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นผลให้ ศ.ประกอบ ต้องรับโทษจำคุก รวม 9 ปี 28 เดือน


สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช. ชี้มูล ศ.ประกอบ จากพฤติการณ์การกระทำความผิด 2 ส่วนหลัก คือ 1.อนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบราชการ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการทอดกฐินสามัคคีและมอบทุนการศึกษาประจำปี 2549 (2) การให้ทุนแก่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ในโครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษา ครั้งที่ 1 และ (3) โครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษาครั้งที่ 2


2. อนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยทั้งข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 165 ราย โดยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไม่ได้จัดสรรรายได้ตั้งเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อนุมัติงบประมาณสำหรับการให้กู้ยืม
 

 

ขณะเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญทองช้างเผือก และเหรียญจักรมาลา ซึ่ง นายนรภัทร สิงห์นรภัทร หรือถิรเมธ รัตนกุลวัฒนา หรือ มานพ รัตนกุลวัฒนา อดีตข้าราชการตํารวจ ดํารงชั้นยศดาบตํารวจ ตําแหน่งผู้บังคับหมู่ กองกํากับการสืบสวน ๑ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตํารวจนครบาล สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ได้รับพระราชทาน 


เนื่องจากเป็นผู้กระทําผิดวินัยร้ายแรงและมีคําสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดยคําสั่ง อันถึงที่สุดแล้ว อันเป็นเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามข้อ ๖ และข้อ ๗ (๔) ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ และ นายนรภัทร สิงห์นรภัทร หรือถิรเมธ รัตนกุลวัฒนา หรือมานพ รัตนกุลวัฒนา เป็นผู้ถูกถอนชื่อออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องแล้ว


ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา


นายกรัฐมนตรี

                         โปรดเกล้าฯ เรียกคืนเครื่องราชฯ ประกอบ วิโรจนกุฏ อดีตอธิการบดีม.อุบลราชธานี