ศาลนัด 12 ต.ค. ชี้ขาดปมวุฒิสภาเบรก รัชนันท์ ธนานันท์ เป็นตุลาการศาลปค.สูงสุด

21 ก.ย. 2565 | 09:00 น.

ศาลรธน.นัดลงมติ -อ่านคำวินิจฉัย 12 ต.ค.นี้ ปมวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้ “รัชนันท์  ธนานันท์”เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่ผ่านการคัดเลือกจาก ก.ศป.   

วันนี้ (21 ก.ย.65)  ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน  ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  213 กรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ นายรัชนันท์  ธนานันท์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ให้ดำรงตําแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขัดต่อหลักความเสมอภาค และความเป็นอิสระของการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง  เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้   


อันเป็นผลจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา  27  และมาตรา  198 หรือไม่
 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า  คดีเป็นปัญหาของกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้  

จึงยุติการไต่สวน กําหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคําวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง  ในวันพุธที่  12 ต.ค.2565  เวลา 15.00 น. 


ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี นายรัชนันท์ ธนานันท์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ นายรัชนันท์ เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ขัดต่อหลักความเสมอภาค และความเป็นอิสระของการบิรหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และมาตรา 198 หรือไม่  และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าวของวุฒิสภา ไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องจากนายรัชนันท์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. แต่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 22 มิ.ย. 64 ซึ่งเป็นการยื่นเมื่อพ้นระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้องจาก นายรัชนันท์ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาจากวุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเอกสารต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาเมื่อพ้นระยะเวลา 60 วันดังกล่าว และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเอกสารก็รีบพิจารณาโดยเร็ว และส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ชักช้า

 

ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 31 ให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 46 และมาตรา 48 


และเห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า การกระทำของวุฒิสภา ละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้อันเป็นผลจากบทบัญญัติกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 48 จึงรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย