เปิดไทม์ไลน์ กกต. 7 พ.ค.2566 เลือกตั้ง ส.ส.

21 ก.ย. 2565 | 04:45 น.

เปิดไทม์ไลน์ “กกต.” เตรียมเลือกตั้งส.ส. กรณีสภา“ครบวาระ”หย่อนบัตร 7 พ.ค.2566 เปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง 3-7 เม.ย.66 ส่วนกรณี “ยุบสภา” จัดหย่อนบัตรภายใน 60 วัน : รายงานการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3820

ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2565 เป็นต้นไป ถือได้ว่าเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้งส.ส.” อย่างเป็นทางการ เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งที่เหลือเวลาบริหารราชการอีกเพียง 6 เดือน


ขณะเดียวกัน ตั้งแต่หลังวันที่ 24 ก.ย.2565 เป็นต้นไป หากมีส.ส.เขต ต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็ไม่จำเป็นต้องมีการ “เลือกตั้งซ่อม” แต่อย่างใด 

นอกจากนั้น ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็ได้ออกประกาศมาว่า ขณะนี้ใกล้ถึงระยะเวลา 180 วัน  ก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะครบอายุวันที่ 23 มี.ค.2566 ซึ่งกำหนดให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงให้เป็นไปตาม มาตรา 68 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 

 

และต้องมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ตามมาตรา 73 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน โดยมีห้วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2565 จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ ในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องไว้ประกอบการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งไว้ด้วย 


แหล่งข่าวจากสำนักงาน กกต. ระบุว่า กกต.เป็นห่วงเรื่องการหาเสียงผิดกฎหมาย ไม่ใช่การห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงแต่อย่างใด เพราะการกระทำที่เข้าข่ายการหาเสียงผิดกฎหมายนั้น คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่ได้อยู่แล้ว เพราะการจำนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายได้จะต้องเป็นการหาเสียงที่ถูกกฎหมาย 


เริ่ม 24 ก.ย.65 ห้ามแจกของ


ดังนั้น นับจากวันที่ 24 ก.ย.2565 การจะไปให้ของ แจกของ จะไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะจะเป็นการหาเสียงผิดกฎหมาย เช่น การจะไปแจกของให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือ แจกของเกี่ยวกับโควิด-19 ไม่สามารถทำได้เลย ไม่ใช่ไปแจกแล้วมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย เพราะตามระเบียบวิธีหาเสียงจะห้ามเรื่องพวกนี้ไว้ เพราะจะถือเป็นการซื้อสิทธิขายเสียง หากกระทำหลังวันที่ 24 ก.ย.2565 แต่เรื่องที่จะคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายได้คือการหาเสียง รถแห่หาเสียง ป้ายโฆษณาแบบนี้คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง


“หลังวันที่ 24 ก.ย.นี้ จะเข้าวิธีการหาเสียงเหมือนมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเงื่อนระยะเวลาให้ครอบคลุม 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาฯ  ดังนั้นทุกอย่างจะต้องดำเนินการเสมือนตอนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเลย”แหล่งข่าวระบุ

                                        เปิดไทม์ไลน์ กกต. 7 พ.ค.2566 เลือกตั้ง ส.ส.


7 พ.ค.66 เลือกตั้งส.ส.


แหล่งข่าวจาก กกต. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป (เลือกตั้งส.ส.) ในส่วนของกกต.นั้น เตรียมแผนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ไว้รองรับสถานการณ์ทางการเมืองไว้เรียบร้อยแล้ว โดยในกรณีสภาผู้แทนราษฎรอยู่ “ครบวาระ” มีแผนจัดการเลือกตั้งส.ส.ดังนี้ 


เดือนมีนาคม 2566 เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.66 ถือเป็นวันที่อายุของ ส.ส.สิ้นสุดลง, 30 มี.ค.66 วันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้, 31 มี.ค.66 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง (ม.12 ) และ ประกาศกำหนดวันรับสมัคร (ม.12 ) 


เดือนเมษายน 2566 ระหว่าง วันที่ 3-7 เม.ย.66 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.(ม.12 ),  วันที 11 เม.ย.66 วันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (ม.30) และ วันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ม.36), 14 เม.ย.66 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส. (ม.46)


ถัดไปวันที่ 16 เม.ย.66 เป็นวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ม.36) และสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (ม.19) 26 เม.ย.66 วันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (ม.30 ) และ วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ -ถอนชื่อ (ม.37, ม.38) 


30 เม.ย.66 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง/นอกเขตเลือกตั้ง และ แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม.33 )  


เดือนพฤษภาคม 2566 ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.66 แจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม.33) ขณะเดียวกันวันที่ 1 พ.ค.66 เป็นวันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ม.49, ม.51), 3 พ.ค.66 วันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัครกรณีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร (ม.49) 6 พ.ค.66 เป็นวันสุดท้ายที่ผอ.เลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ยื่นคำร้องศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม (ม.52)


7 พ.ค.66 วันเลือกตั้งส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

 

ขณะที่ 8-14 พ.ค.66 แจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม.33)

                                     เปิดไทม์ไลน์ กกต. 7 พ.ค.2566 เลือกตั้ง ส.ส.


แผนเลือกตั้งรับยุบสภา 


นอกจากนั้น กกต.ยังได้ร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.กรณี “ยุบสภา” มีรายละเอียดดังนี้ 

 

-วันที่มีพ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง (ม.12) ,กกต.ประกาศกำหนดวันรับสมัคร (ม.12) ภายใน 5 วันนับแต่วันยุบสภา


-วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. (ม.12) ภายใน 5-25 วัน นับแต่วันยุบสภา


-วันสุดท้ายประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (ม.30) และวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ม.36) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน

 

-ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. (ม.46) ภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร

 

-วันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ม.36) และ สรรหา/แต่งตั้งคกก.ประจำหน่วยเลือกตั้ง (ม.19) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน


- วันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (ม.30) และ วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ (ม.37, ม.38)  ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน, แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม.33) 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง


-วันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ม.49, ม.51) ภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศรายชื่อ, วันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัคร กรณีผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร (ม.49) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 วัน


-วันสุดท้ายผอ.ประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องศาลฎีกากรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม (ม.52) ก่อนวันเลือกตั้ง

 

-วันที่คาดว่าเป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา,  แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม.33 ) 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

 

ส่วนจะได้เลือกตั้ง 7 พ.ค.2566 หากสภาอยู่ครบวาระ หรือ เกิดการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งเสียก่อน ก็ต้องรอดูว่าจะยุบสภาวันไหน ซึ่งต้องจัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน