พีระพันธุ์ พร้อมเสนอพรบ. บริหารราชการเพื่อความเป็นธรรม คุมอำนาจจนท.รัฐ

13 ก.ย. 2565 | 05:42 น.

“รวมไทยสร้างชาติ” พร้อมเสนอร่าง “พรบ. ว่าด้วยการบริหารราชการเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม พ.ศ. ....” เป็น “กฎหมายกลาง” เพื่อเป็นแม่บทคุมการใช้อำนาจจนทรัฐ ที่กระทบการดำรงชีวิตชาวบ้าน

วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ทำงานเป็น ส.ส. มา 6 สมัยของตน และจากข้อร้องเรียนของประชาชนกับประสบการณ์ในวงราชการและการเมืองของตนกว่า 30 ปี พบว่า

 

ปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริงของประชาชนระดับชาวบ้าน หรือระดับรากหญ้ามีจำนวนมาก และเป็นเศรษฐกิจที่เป็นชีวิตจริงของคนคือการทำมาหากินเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เป็นปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่เศรษฐกิจจีดีพีที่ชาวบ้านกินไม่ได้

 

แต่มักจะเกิดขึ้นเพราะตัวบทกฎหมายไม่ชัดเจน และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจ โดยไม่มีกรอบกติกาที่ชัดเจนเข้าไปอีก จนเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตและการทำมาหากินการทำมาหากินของชาวบ้านสุดท้ายกลายเป็นผู้ต้องหา เช่น กฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน กฎหมายป่าสงวน กฎหมายประมง หรือแม้แต่กฎหมายลิขสิทธิ์สิทธิบัตร เป็นต้น 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า  บ่อยครั้งปัญหาเกิดจากความขัดแย้งกันเองของกฎหมายของส่วนราชการเดียวกัน ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าควรจะต้องมีกฎหมายใหม่เป็น “กฎหมายกลาง” เพื่อใช้เป็นแม่บทในการตีความและบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแบบม้วนเดียวจบ

 

ไม่ต้องวิ่งไปถามหน่วยงานโน้นหน่วยงานนี้ หรือหน่วยงานนี้ปล่อยอีกหน่วยงานมาจับ และไม่ต้องไปไล่แก้กฎหมายเหล่านี้ทีละฉบับซึ่งจะไม่ทันการณ์
 

นายพีระพันธุ์ฯ กล่าวต่อว่า ตนได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคนำแนวทางที่ตนมอบให้เพื่อยกร่าง “กฎหมายกลาง” นี้แล้ว ซึ่งตนจะนำมาพิจารณาก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป

 

เบื้องต้นคิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะใช้ชื่อว่า “พ.ร.บ. ว่าด้วยการบริหารราชการเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม พ.ศ. ....” ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมเสนอกฎหมายนี้เข้าสภาฯ ทันทีในสมัยหน้าหากประชาชนไว้วางใจเลือกสมาชิกพรรคเป็น ส.ส. เพียงพอ

 

 นายพีระพันธุ์ฯ ยังเปิดเผยว่าได้เตรียมการที่จะยกร่างกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับเพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการรายกลางรายย่อมและรายย่อย การแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนและภาคครัวเรือน รวมทั้งปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้สินครู และปัญหาหนี้สินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เป็นต้น