ดร.พิสิฐ ห่วงวิกฤติจัดทำงบ แนะเร่งปฏิรูประบบราชการ ลดรายจ่ายไม่จำเป็น

17 ส.ค. 2565 | 08:45 น.

ดร.พิสิฐ ห่วงวิกฤติการจัดทำงบประมาณ แนะรัฐเร่ง ปฏิรูประบบราชการ ลดความซ้ำซ้อน ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เกิดการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 17 ส.ค. 2565 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติใน มาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว 

 

โดยได้อภิปรายว่า จากการที่ตนอภิปรายเห็นด้วยในวาระที่ 1 กับวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ 3.185 ล้านล้านบาท แต่ไม่ใช่เพราะเห็นว่าเงินจำนวนนี้เหมาะสมหรือเพียงพอ แต่เป็นเพราะข้อจำกัดการจัดเก็บรายได้ และปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้น จึงทำให้สำนักงบประมาณไม่สามารถเพิ่มจำนวนงบประมาณให้มากขึ้น เพราะอาจทำให้เกิดเป็นปัญหาบานปลายเป็นวิกฤตการคลัง  จนระบบงบประมาณเป็นอัมพาต หรือย้อนกลับเป็นวิกฤติงบประมาณขึ้น 
 

ดร.พิสิฐ ได้เพิ่มเติมว่า ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณนั้น ทุกส่วนราชการคงรู้สึกเช่นเดียวกันว่าได้รับงบประมาณน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหักจากเงินเฟ้อแล้ว รายจ่ายจริงต่ำลง วงเงินงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาทนี้ ยังน้อยกว่างบประมาณเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาท หากคิดอัตราเพิ่มของเงินเฟ้อแล้ว จะพบว่ารายจ่ายจริงของส่วนราชการจะลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ 

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

พร้อมทั้งเห็นว่า การทำงานของระบบของส่วนราชการทุกวันนี้ขาดกำลังใจ ขาดความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา เพราะรู้สึกว่า ทำเรื่องของงบประมาณไปแล้วจะไม่ได้งบ ซึ่งโดยรวมแล้วเมื่อขอ 1 บาท จะได้เพียง 50 สตางค์ และมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ เพื่อใช้งานประจำเท่านั้น ในเรื่องนี้จึงเป็นวิกฤติที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะหากทิ้งไว้ก็เท่ากับว่าเราจะไม่มีเครื่องมือในการบริหารประเทศ เมื่อประชาชนเดือดร้อนต้องการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

แต่รัฐบาลกลับไม่มีเงินที่จะมาใช้จ่ายเรื่องใหม่ๆ เพราะเงินนั้นถูกใช้จ่ายไปในงบค่าใช้จ่ายประจำเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อสังเกตของกรรมาธิการก็มีการเขียนประเด็นนี้เอาไว้ว่า รัฐบาลมีพื้นที่การคลังลดลง (Fiscal Space) 

 

ดร.พิสิฐ ยังเห็นว่าตัวเลขที่ใส่ไว้เพื่อแสดงพื้นที่การคลังนี้ยังน่าจะมากกว่าที่เกิดขึ้นจริง เพราะไม่ได้คำนึงถึงงบประจำต่างๆ งบผูกพันต่างๆ  เงินเดือน หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้นหากได้คิดถึงรายการเหล่านี้ก็เชื่อว่าตัวเลขพื้นที่การคลังสำหรับการบริหารงบประมาณอาจจะติดลบ เพราะในการแปรญัตติของกรรมาธิการ ได้มีการแปรญัตติใส่กลับเข้าไปในหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ

 

ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และการเกษตร โดยให้เหตุผลว่าตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ แต่ในความจริงแล้วเรื่องการศึกษาฟรี เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร และการรักษาพยาบาลฟรี เหล่านี้เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของรัฐบาล 

 

ดร.พิสิฐ เพิ่มเติมอีกว่า วิกฤติการจัดทำงบประมาณที่เกิดขึ้นแล้ว จะมีข้อจำกัดมากขึ้น รัฐบาลต้องเร่งดูแลเรื่องนี้ ด้วยการลดความซ้ำซ้อน ปฏิรูประบบราชการ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งในมาตรา 19 ใน พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ เรื่องหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ข้อ 1 กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ

 

ดังนั้นตนจึงขอให้ กมธ. ได้ชี้แจงว่า ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้ส่วนราชการมีความมุ่งมั่นใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่คิดว่าขอไปแล้วไม่ได้ ได้แต่โครงการเก่าๆ หรือผูกพันไปแล้ว 

 

ทั้งนี้ได้ชื่นชมการทำงานของ กมธ. งบประมาณ ที่มีความกล้าหาญในการจัดสรรงบประมาณลงไปช่วยเหลือโดยเฉพาะเกษตรกร ทำให้ได้รับเงินโดยรวมร่วม 3 พันล้าน โดยใช้สำหรับ กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร และกรมการข้าวในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ชาวนาได้รับประโยชน์โดยเฉพาะจากการที่กรมการข้าวได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 2 พันกว่าล้าน

 

รวมไปถึงโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล รพ.สต. จะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น และเรื่องการศึกษาฟรี ที่กมธ. งบประมาณมีความกล้าหาญที่จัดสรรงบประมาณลงไป 

 

ขณะที่ติงการทำงาน กมธ. งบประมาณว่า มีบางส่วนพยายามมุ่งหน้าตัดลดงบประมาณ ด้วยการบีบรัดให้หน่วยรับงบประมาณไปตัดงวดงาน แม้จะมีเป้าหมายเพื่อตัดงบประมาณ แต่การที่ไปให้หน่วยรับงบประมาณไปตัดลดงวดงาน เพื่อให้ได้เป้าการปรับลด จะเท่ากับเป็นการทำให้หน่วยงานนั้นไม่เร่งรัดงานก่อสร้างที่อยู่ในส่วนการบริหาร ซึ่งจะส่งผลให้งานก่อสร้างต่างๆ ของหน่วยงานราชการล่าช้า

 

เนื่องจากถูกตัดงบประมาณ และปล่อยให้งวดงานยืดยาวออกไป ดังนั้น กมธ. งบประมาณจะต้องดูให้ดีก่อนตัดงบประมาณ และตัดเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ตัดเพราะมีเป้าหมายที่จะตัดงบประมาณ