"นิพนธ์"ติวเข้มอปท.เร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

07 ก.ค. 2565 | 09:20 น.

"นิพนธ์"ติวเข้มอปท.“ทิศทางการพัฒนารายได้ท้องถิ่นไทย”แนะเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง รอรายได้จากรัฐทางเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างระบบข้อมูล จัดเก็บรายได้ส่วนท้องถิ่น

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ  นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการด้านการคลังท้องถิ่น เรื่อง “สามเสาหลักของการพัฒนารายได้ท้องถิ่น : นโยบาย ระบบการจัดการ และเทคนิควิธี” พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนารายได้ท้องถิ่นไทย" โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ  และบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

                       "นิพนธ์"ติวเข้มอปท.เร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เวลานี้เป็นจังหวะที่เราต้องระดมความคิดเห็นร่วมกันถึงทิศทางการพัฒนารายได้ท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจตึงตัว ทั้งจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนในขณะนี้  

“ท้องถิ่นจะบริหารงานคลังแบบเดิมๆ จัดเก็บรายได้แบบเดิม รอคอยรายได้ที่จัดสรรจากรัฐเป็นหลัก และให้รัฐบาลดูแลเพียงฝ่ายเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป  ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ท้องถิ่นต้องเร่งปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้มีศักยภาพในด้านการเงิน การคลัง และการจัดบริการสาธารณะที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถดูแลแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่” 

                "นิพนธ์"ติวเข้มอปท.เร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

รมช.มหาดไทย กล่าวว่า การที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องปรับตัวด้วยการพึ่งพาตนเอง และพัฒนาการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล สิ่งสำคัญคือ หากเราดูมาตรา 250 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า “รัฐต้องดําเนินการให้ อปท. มีรายได้ของตนเองโดยจัดระบบภาษีหรือจัดสรรภาษีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการหารายได้ของ อปท. .....” 

จากบทบัญญัตินี้ จะเห็นว่า การพัฒนารายได้ท้องถิ่นเพื่อให้ อปท. มีอิสระทางการคลังเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่จําเป็นอย่างมาก และพวกเราชาวท้องถิ่น หรือผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกัน

 

จากประสบการณ์ของผมในฐานะที่เคยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามาก่อน เคยเร่งรัด และผลักดันเรื่องการพัฒนารายได้ท้องถิ่นเช่นกัน ตอนผมเข้ารับตําแหน่งใหม่ๆ ก็ได้ เรียกดูข้อมูลผลการจัดเก็บรายได้ของ อบจ. ก็พบว่า ภาษีจากปั๊มน้ำมัน มีผลจัดเก็บได้ค่อนข้างดี แต่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรมยังได้น้อยมาก เลยได้เร่งกําชับทีมงาน คือ การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม โดยการทบทวนข้อบัญญัติใหม่ 

                   "นิพนธ์"ติวเข้มอปท.เร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

เรื่องที่สองคือ การสํารวจข้อมูลโรงแรมให้ครบถ้วน หมั่นออกสํารวจและดึงกิจการโรงแรมมาอยู่ในระบบ จัดเก็บค่าธรรมเนียมของ อบจ.เพิ่มขึ้น พอช่วงก่อนที่ผมจะลาออกจากนายก อบจ.สงขลานั้น พบว่าภาษีรถยนต์และล้อเลื่อนที่เป็นรายได้ที่สําคัญของท้องถิ่นนั้น มีข้อจํากัดในการจัดเก็บและติดตามเร่งรัดพอสมควร พอเช็คตัวเลขไปพบว่า ที่สงขลามีภาษีรถยนต์ค้างอยู่กว่า 300 ล้านบาท ทั่วประเทศมีกว่า 9 พันล้านบาท การปล่อยเรื่องนี้ไปถือว่าเป็นความสูญเสียอย่างมาก นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนถึงความจําเป็นในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น

 

นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้บริหารงานท้องถิ่นโดยตรงแล้ว แต่ก็ยังติดตามท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง วันนี้ดีใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนารายได้ท้องถิ่นต่างๆ  ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมจุดประกายแนวคิดและลงมือผลักดันการดําเนินการช่วงที่ผ่านมา 

                             "นิพนธ์"ติวเข้มอปท.เร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่พวกเราจะร่วมแรงร่วมใจกันลงมือทําในวันนี้ จะส่งผลอันยิ่งใหญ่ต่อการพัฒนารายได้ท้องถิ่น และการกระจายอํานาจทางการคลังให้แก่ อปท. รวมถึงการพัฒนา อปท. ให้มีความพร้อมในการจัดเก็บรายได้ การพัฒนาทางการคลังท้องถิ่นต่อไป”