การเมืองเรื่อง“น้ำมันแพง”เขย่าเก้าอี้รัฐมนตรี

25 มิ.ย. 2565 | 02:30 น.

การเมืองเรื่องน้ำมันแพง ลุกลามบานปลายกลายเป็น การเขย่าเก้าอี้รัฐมตรีพลังงานแบบแยกกันไม่ออก : รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3795

วิกฤติราคาพลังงานแพง น้ำมันแพง ดันให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับราคาสูงขึ้นเป็นเงาตามไปด้วย จน “ของแพงทั้งแผ่นดิน” ส่งผลกระทบต่อประชาชนถ้วนหน้า 

 

แรงกดดันจึงไปตกอยู่ที่รัฐบาล ที่จะต้องหาหนทางแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ “ฝ่ายการเมือง” ก็ได้ออกมาทั้ง เสนอแนะ และกดดันรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาน้ำมันแพง โดยประเด็นหนึ่งมีการเรียกร้องคือ ให้คุม “ค่าการกลั่นน้ำมัน” ถึงขนาดใช้คำว่า “ปล้นค่าการกลั่น” กันเกิดขึ้น


ปล้นค่ากลั่นน้ำมัน10เท่า

 

คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ คือ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรมว.คลัง ที่ได้ออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่  12 มิ.ย.2565 ว่า  ราคาน้ำมันในประเทศไทย ต่ำกว่าในประเทศกลุ่มอาเซียน เพราะมีการอุ้มราคาพลังงานจากรัฐ แต่ก็ไปสร้างหนี้ให้กับกองทุนน้ำมัน ที่ตอนนี้กำลังจะแบกรับไม่ไหวแล้ว เพราะต้องนำเงินในกองทุนไปช่วยอุ้มทุกเดือน เดือนละ 20,000 ล้าน ยอดหนี้สะสมตอนนี้อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท และจะทะลุ 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นเดือนนี้ 

ปัญหาคือ กองทุนฯ ไม่ได้มีรัฐกำกับดูแล ต้องไปวิ่งกู้เงินเองจากสถาบันการเงิน แต่ตอนนี้มีความเสี่ยง จึงไม่สามารถกู้เพิ่มได้ และไม่มีรายได้ด้วย ปัญหาระยะยาว แม้ราคาน้ำมันโลกจะลดลง แต่กองทุนน้ำมันก็จะยังต้องเก็บภาษีจากน้ำมันต่อไป เพื่อนำรายได้มาชำระหนี้คืนสถาบันการเงิน ที่ไปกู้เงิน จึงกลายเป็นภาระในอนาคตของประชาชนต่อ

 

นายกรณ์ ชี้ว่า คนไทยโดนปล้นมากว่า 1 ปีแล้ว จากค่าการกลั่นน้ำมัน เพราะจากข้อมูลราคากลั่นน้ำมันพบว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ 25.92 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูป 34.48 บาทต่อลิตร แต่ค่ากลั่นอยู่ที่ 8.56 บาทต่อลิตร ทั้งที่ค่ากลั่นปกติ อยู่ที่ 0.87 บาท ต่อลิตร เท่ากับค่ากลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ทั้งที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มเลย “มันเป็นการปล้นประชาชน โดยที่รัฐบาลไม่มีคำอธิบายกับประชาชนเลย” 


นายกรณ์ ยังเสนอแนะว่า กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ควบคุมราคาสินค้าทำไมไม่ไปดู ส่วนกระทรวงพลังงานก็มีอำนาจโดยตรง อยากฝากบอกรัฐมนตรีว่ารู้ดีเพราะเป็นลูกหม้อ ปตท. ช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาเกรงใจเพื่อนๆ มันมีวิธีที่จะช่วยเหลือบ้านเมืองและประชาชนได้ทันที ต้องรีบตัดสินใจ  


นอกจากนั้น ควรมีการกำหนดเพดานการกลั่น และ ควรเก็บภาษีลาภลอย (windfall tax ) เพราะราคาส่วนต่างจากราคาการกลั่นน้ำมันเป็นราคาลาภลอยให้กับบริษัท ทำให้เขาได้กำไรจากส่วนต่าง 


ดัน“กรณ์”นั่งรมต.พลังงาน 


ถัดมาวันที่ 13 มิ.ย.2565 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ในคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ออกมาแถลงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปลด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ออกจากตำแหน่ง 


โดยอ้างเหตุละเลยต่อการแก้ปัญหาค่าน้ำมันที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งไม่เข้าร่วมการชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการฯ ซึ่งติดตามการแก้ไขปัญหาบรรเทาผลกระทบต่อราคาพลังงานกับประชาชน และให้ นายกรณ์ จาติกวณิช ดำรงตำแหน่งรมว.พลังงานแทน


นายอัครเดช กล่าวว่า กรณีของ นายสุพัฒพงษ์  อนุกมธ. ได้เชิญให้มาชี้แจงหลายครั้ง ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งและเชิญ แต่ถูกปฏิเสธมาชี้แจงด้วยตนเอง และส่งให้หน่วยงานเข้าชี้แจงแทน ขณะเดียวกันทางอนุกมธ. ได้ขอให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับราคาการกลั่นมาให้พิจารณา แต่ไม่ดำเนินการ แม้จะทวงถามไปแล้ว 2 ครั้ง สำหรับปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งอนุกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง พบว่านโยบายและกลไกของรัฐสามารถแก้ไข และทำให้ราคาลดลงได้ แต่ไม่ทำ


จี้“พาณิชย์”คุมกำไรน้ำมัน


ต่อมาวันที่ 20 มิ.ย.2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้ออกมาแถลงอีกครั้ง เรียกร้องให้ “กระทรวงพาณิชย์” การใช้อำนาจตามมาตรา 24 และ 25(2) พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและการบริการ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน สามารถใช้อำนาจกำหนดอัตรากำไรของก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นสินค้าควบคุม 


“เมื่อเทียบค่าการกลั่นเฉลี่ย 3 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 1.91 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นราคาที่มีกำไรอยู่แล้ว จนมาเจอกับสถานการณ์สงครามยูเครน ราคาค่าการกลั่นสูงขึ้นเรื่อยๆ บางวันสูงขึ้นถึง 8.56 บาท/ลิตร แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.80 - 6 บาทต่อลิตร เมื่อเอาค่าการกลั่นช่วงแรกกับช่วงหลังมาหักลบกัน ราคาก็จะลดลงได้ทันทีถึง 4 บาทต่อลิตร ซึ่งน่าจะเป็นราคาที่เหมาะสม และโรงกลั่นได้กำไร จึงขอให้ นายจุรินทร์ ใช้อำนาจตามกฎหมาย” นายกรณ์ ระบุ


 “จุรินทร์”โต้เดือด“กรณ์”  

 

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ซึ่งปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 ตอบโต้ นายกรณ์ ต่อข้อเสนอให้ควบคุมราคาน้ำมันซึ่งจะทำให้ลดลงได้ 4 บาท ว่านายกรณ์ คงอยากพูดต่อจากที่ออกมาพูดเรื่องค่าการกลั่นก่อนหน้านี้ แต่คงลืมไปว่าหาเสียงก็ต้องมีความรับผิดชอบ ความกล้าเป็นเรื่องดีแต่ต้องกล้าในสิ่งที่ถูกที่ควร และก่อนพูดก็ต้องรู้จริงในสิ่งที่พูด  


เพราะ นายกรณ์ คงเข้าใจว่า ถ้าน้ำมันเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์แล้ว รมว.พาณิชย์ จะสั่งให้จัดการยังไงเกี่ยวกับเรื่องน้ำมันก็ได้ รวมทั้งสั่งให้ลดค่าการกลั่น หรือ ลดราคาน้ำมันด้วยก็ได้ ซึ่ง นายกรณ์ เข้าใจผิด

                                    การเมืองเรื่อง“น้ำมันแพง”เขย่าเก้าอี้รัฐมนตรี
“น้ำมันมีทั้งกฎหมายเฉพาะและคำสั่งเฉพาะของนายกฯ กำหนดไว้ ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ทั้งตามพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และคำสั่งนายกฯ ที่กำหนดชัด ให้การคํานวณราคาและกําหนดราคา ณ หน้าโรงกลั่น ราคาส่ง-ปลีก ค่าการตลาด ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งให้โรงกลั่นแจ้งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มี รมว.พลังงาน เป็นประธาน”


แม้กระทรวงพาณิชย์จะประกาศให้น้ำมันเป็นสินค้าควบคุม ก็จะมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเป็นการทั่วไป เฉพาะในส่วนที่ไม่ไปใช้อำนาจหน้าที่แทน กบง. หรือ ใช้อำนาจแทนผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะเท่านั้น   


ส่วนคำถามที่ว่า นายกรณ์ ต้องการโยนบาปมาที่ นายจุรินทร์ เพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ นายจุรินทร์ ตอบว่า ไม่ขอตอบ เพียงแต่การออกมาวิจารณ์ หรือ พูดอะไร ควรรู้จริงทั้งข้อกฎหมายและการปฏิบัติ ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ฉาบฉวย เพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนได้ และในส่วนกระทรวงพาณิชย์ อะไรที่เป็นอำนาจและเป็นหน้าที่ไม่ผิดกฎหมายยินดีทำทุกเรื่องให้ประชาชน


"สุพัฒนพงษ์"ฉะกมธ.สภา

 

ขณะที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2565 วาระกระทู้ถามทั่วไป นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามเรื่องนโยบายการดำเนินการชดเชยราคาน้ำมันให้กับประชาชน  ผ่านการนำเงินส่วนกำไรของบริษัท ปตท. ไปช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน สามารถทำได้ผ่านการทำซีเอสอาร์ ตราบใดที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุน เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายว่าด้วยการจำกัดคู่แข่งทางการค้า  


และเพิ่มเงินนำส่งเข้ารัฐมากขึ้น เช่น ปกติ ส่งให้รัฐปีละ 3 หมื่นล้านบาท เป็น 1.2 แสนล้านบาท เพื่อให้กระทรวงการคลังนำไปชดเชย และเยียวยา รวมถึงช่วยเหลือประชาชน จึงขอทราบว่า ทำไมกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่นำกำไรของ ปตท.ชดเชยราคาน้ำมันประชาชนแบบถูกกฎหมาย


นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า ข้อเสนอที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาผ่านซีเอสอาร์นั้น ไม่ขัดข้อง ที่ผ่านรัฐบาลร้องขอให้ ปตท.ช่วยเหลือหลายเรื่อง ทั้งแอลพีจี เอ็นจีวี เชื่อว่าปีนี้จะรวมๆ หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรแสนล้านบาท 


ส่วนที่ระบุว่าขอให้นำกำไรทั้งแสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชน ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ส่วนข้อเสนอให้ทำธุรกิจแบบไม่มีกำไร จะทำให้เงินส่งรัฐลดลง หากเป็นการตัดสินใจของ ปตท. ที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจในสาระสำคัญคือ ไม่หวังกำไร ต้องประชุมผู้ถือหุ้นและตัดสินใจ กระทรวงพลังงานสั่งหรือบอกไม่ได้ แม้จะบอกมีมาตรการต้องตัดสินใจตามอำนาจกฎหมายพ.ร.บ.บริษัทมหาชน และ บริษัทตลาดหลักทรัพย์  

 

ดังนั้น ขอให้อนุกมธ. เชิญธุรกิจทุกธุรกิจมาหารือว่า ในยามที่ประชาชนเดือดร้อน เลิกทำธุรกิจหากำไร ทำธุรกิจไม่มุ่งหากำไรเลย ต้องตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้น สั่งตรงไม่ได้

 

กรณีที่เสนอให้เงินปันผลส่งรัฐมากขึ้นเพื่อพยุงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถทำได้ แต่กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจสั่งการ ส่วนที่เกี่ยวกับโรงกลั่นนั้น ขอแนะนำอนุ กมธ.ให้เชิญทุกโรงกลั่นเข้ามาพูดคุย ไม่ใช่เชิญเฉพาะ ปตท.เท่านั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน 

 

สำหรับเรื่องค่าการกลั่น กระทรวงพลังงาน พยายามเจรจาโรงกลั่นอยู่ ได้รับความร่วมมือจากโรงกลั่น 6 แห่ง เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุป หากค่าการกลั่นยังสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ หามาตรการต่างๆ สร้างกติกาให้โรงกลั่นที่มีส่วนเกินของกำไร ลดราคาต่างๆ ต่อไป ถ้าจำเป็นต้องยกร่างกฎหมาย อาจต้องมาส่งถึงสภาแห่งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3 จะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา 

 

การเมืองเรื่อง “น้ำมันแพง” ลุกลามบานปลายกลายเป็นการ “เขย่าเก้าอี้รัฐมตรีพลังงาน” แบบแยกกันไม่ออกเฉยเลย