“รมว.กลาโหมสหรัฐ”พบนายกฯ ถกปมทะเลจีนใต้-เมียนมา

13 มิ.ย. 2565 | 12:07 น.

รมว.กลาโหมสหรัฐ พบ “นายกฯ” หารือสถานการณ์ทะเลจีนใต้ - เมียนมา ไทยย้ำยึดกฎหมายระหว่างประเทศ และหาทางออกอย่างสันติวิธี แก้ปัญหา ขณะสหรัฐพร้อมหนุนการพัฒนากองทัพไทยให้ทันสมัย

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ให้การต้อนรับ นาย Lloyd J. Austin III ( ลอยด์ เจ. ออสติน ที่สาม ) รมว.กลาโหมสหรัฐ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในฐานะแขกของ กระทรวงกลาโหม ระหว่าง 12 - 14 มิ.ย. 65  ณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม


ทั้งสองฝ่าย ได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทย - สหรัฐ ที่มีพัฒนาการแน่นแฟ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน และขอบคุณการสนับสนุนความร่วมมือทางทหาร พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันต่อสถานการณ์ความมั่นคงของภูมิภาค อาทิ ปัญหาทะเลจีนใต้ และเมียนมา 
โดยไทยสนับสนุนการดำรงบทบาทที่สร้างสรรค์และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และยืนยันในท่าทีของอาเซียน ที่ผ่านมา ไทยได้ให้การช่วยเหลือผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมต่อเนื่องมา และไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขัดแย้งที่ไม่พึงประสงค์ของภูมิภาค 

ขณะที่สหรัฐ ยืนยันและพร้อมผลักดันการสนับสนุนการพัฒนากองทัพไทยให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ทั้งการฝึก ศึกษา ยุทโธปกรณ์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพร่วมกันด้านไซเบอร์และอวกาศ  ซึ่งในปี 2566 หลังผ่านความท้าทายของโควิด-19 จะได้มีความร่วมมือกันจัดการฝึกร่วมผสมคอบบร้าโกล์ด เต็มรูปแบบ โดยจะมีการฝึกด้านไซเบอร์และอวกาศ เพื่อยืนยันและสะท้อนความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน 


โฆษกกระทรวงกลาโหม ยังได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีกลุ่มของ นายจตุพร พรหมพันธุ์  แสดงเจตนารมณ์ยื่นหนังสือกังวลต่อบทบาทของสหรัฐ ว่า “ขอบคุณ คุณจตุพร และกลุ่มผู้เสวนา ที่แสดงความห่วงใยต่อประเทศ และมีข้อสังเกตร่วมกันต่อปัญหาหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยได้เดินทางมาแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในวันนี้ด้วยความเรียบร้อย ซึ่งถือเป็นสิทธิตามกฎหมายที่สามารถทำได้ และเป็นเรื่องดีที่สังคมตื่นตัว ตระหนัก และมีส่วนร่วมงานด้านความมั่นคงและเรียนรู้ไปด้วยกัน  กระทรวงกลาโหมพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อสังเกตดังกล่าวด้วยใจจริง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานอย่างรอบคอบ”

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงนามในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย-สหรัฐว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ 2020 ที่ผ่านมา เป็นเพียงกรอบแนวคิดและจุดยืนที่มีร่วมกัน มิได้เป็นสนธิสัญญา หรือมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด  ทั้งนี้เป็นการปรับปรุงจากแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม 2012 เดิมที่เคยมีอยู่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 


“ความยึดมั่นร่วมกันของไทยและสหรัฐ ในการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศที่มีร่วมกันมายาวนาน ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ ความเป็นหุ้นส่วน การดำรงบทบาท ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน ความเป็นผู้นำ และกลไกความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อป้องปรามและตอบสนองความท้าทายร่วมกัน  จึงขอให้เชื่อมั่นการทำหน้าที่ในภารกิจป้องกันประเทศของ กลาโหม ที่ยังยึดมั่น และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ชาติ และความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก”