เปิดประวัติ" อัศวิน ขวัญเมือง" จาก"นายพลปิดจ็อบ" สู่เก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.

23 มี.ค. 2565 | 01:56 น.

ส่องประวัติ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนที่ 16เจ้าของฉายา "อัศวินปิดจ๊อบ" เตรียมไขก๊อกจากเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.พรุ่งนี้ จับตาประกาศทวงคืนเก้าอี้เดิมสัปดาห์หน้า

เป็นไปตามคาด เมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ยืนยันว่าวันที่ 24 มีนาคมนี้ ยื่นใบลาออกต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะออกประกาศกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มีนาคม นี้ และคาดว่าจะมีการแถลงเพื่อเปิดตัวลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงสัปดาห์หน้า

 

ประวัติ  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

พล.ต.อ.อัศวิน เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาจากระดับชั้น มศ.3 จากโรงเรียนด่านช้างวิทยา, โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 7, โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 30 (นรต.30) จบหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 16 และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 45

พล.ต.อ. อัศวิน  ขวัญเมือง

พล.ต.อ.อัศวิน  มีชื่อเล่นๆ  ที่สื่อมวลชนเป็นผู้ตั้งให้ว่า บิ๊กวิน มีบ้านพักส่วนตัวอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี สมรสกับ นางวาสนา ขวัญเมือง มีบุตรชายด้วยกัน 3 ประกอบด้วย ร.ต.อ.อัษฎาวุธ ขวัญเมือง รอง สว.กก.สส.บก.น.6 , นายสุกฤษฎิ์ ขวัญเมือง ปัจจุบันศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

และ ร.ต.ท.พงศกร ขวัญเมือง ประธานรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 69 (นรต.69) และรองสารวัตรประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อีกทั้งในปี พ.ศ. 2553 พล.ต.อ.อัศวิน  ยังได้รับเลือกให้เป็นพ่อดีเด่นแห่งชาติอีกด้วย

พล.ต.อ.อัศวิน ฝากผลงานไว้กับคดีสำคัญระดับชาติมาแล้วหลายคดี อาทิ คดีสังหารนายศุภฤกษ์ เรือนใจมั่น (โจ ด่านช้าง), คดีคาร์บอมบ์รถอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, คดีจับกุมนายประชา โพธิพิพิธ (กำนันเซี๊ยะ), คดีจับกุมนายนพพล ประสงค์ศิล (จิ๊บ ไผ่เขียว) และคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชาญชัย ประสงค์ศิล (โจ๊ก ไผ่เขียว) เป็นต้น

พล.ต.อ. อัศวิน  ขวัญเมือง

ในกลางปี พ.ศ. 2551 เมื่อดำรงยศ พลตำรวจโท (พล.ต.ท.) ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 อีกตำแหน่งหนึ่ง และหลังจากนั้น ยังดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553  ในปลายปีเดียวกัน (โดยไม่ได้รักษาการในตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 แล้ว)  

 

ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพลตำรวจเอก และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ก่อนย้ายจากตำแหน่งนั้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553  

 

ในปลายปีเดียวกัน ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "อัศวินปิดจ๊อบ" เนื่องจากมีผลการทำงานที่ดุดัน รวดเร็ว และ "มือปราบไผ่เขียว"และยังได้รับผลโหวตจากการสำรวจความคิดเห็นจากเอแบคโพลด้วยว่า เป็นนายตำรวจที่เป็นตำรวจมือปราบ ที่ประชาชนรู้สึกชื่นชอบและบรรเทาเหตุอาชญากรรมได้มากที่สุด

พล.ต.อ. อัศวิน  ขวัญเมือง

ภายหลังเกษียณอายุราชการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ดูแลงานด้านเศรษฐกิจและการคลัง

 

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้รับแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. นับได้ว่าเป็นนายตำรวจไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้

 

จุดเด่นของ พล.ต.อ. อัศวิน หนีไม่พ้นพื้นฐานจากการเป็น ‘มือปราบ’ ซึ่งต้องมี ‘สายข่าว’ คอยเป็นหูเป็นตาตลอดเวลา สอดคล้องกับยุค คสช. ที่เน้นการจัดระเบียบ สร้างความสงบเรียบร้อย

 

ขณะเดียวกัน ทักษะในการเจรจาต่อรองกับมวลชนของ พล.ต.อ. อัศวิน ก็ไม่เป็นรองใคร จากประสบการณ์ทั้งการคุมม็อบ รวมถึงการจัดระเบียบแผงลอย ก็ใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็งจนผู้ค้าหลายรายยอมสยบมาแล้ว