“พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์"เปิดศึกชิงฐานเสียง

06 ธ.ค. 2564 | 07:30 น.

พลังประชารัฐ กับ ประชาธิปัตย์ กำลังเปิดศึกชิงฐานเสียง จากครอบครัวชาวนา ที่ทั้งประเทศมีอยู่เกือบ 8 ล้านครัวเรือน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 ที่ผ่านมา ได้มีมติ อนุมัติวงเงินกว่า 76,080 ล้านบาท ในโครงการ "ประกันรายได้เกษตร" ผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 เพิ่มเติม หรือ “โครงการประกันราคาข้าว” 

 

เกี่ยวกับโครงการประกันราคาข้าวนี้ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ออกมาระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยืนยันว่า นายกฯทราบดีว่าพี่น้องชาวนาเฝ้ารอการดำเนินการ ก็เร่งทำทันที ตามที่ได้รับปากไว้ที่จะจัดสรรวงเงินเพิ่มเติม สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 

“พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต และช่วยเกษตรกรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐที่แถลงต่อรัฐสภาไว้”

 

ปชป.ทวงเงินประกันข้าว

 

แต่ก่อนที่ ครม.จะอนุมัติเงินในโครงการประกันราคาข้าว เมื่อวันที่ 24 ต.ค.64 ทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ออกมาจี้ “กระทรวงการคลัง” ให้เร่งพิจารณาอนุมัติงบประกันรายได้ปี 3 เพราะเกรงว่าหากอนุมัติล่าช้า อาจส่งผลกระทบราคาข้าว และเกษตรกร
 ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. และ ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ร่วมกันแถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าว 

นายปริญญ์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรถือเป็นนโยบายหลัก หนึ่งในเงื่อนไขที่พรรค เข้าร่วมรัฐบาล และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ได้ประกาศเดินหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดขัดอยู่ที่ “กระทรวงการคลัง” ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องงบประมาณ ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ

 

ด้าน ดรุณวรรณ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิดนี้ ถือว่าเป็นนโยบายหลักของพรรค ปชป. และใน 2 ปีที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 7.67 ล้านครัวเรือน นโยบายดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและวางแผนในการดำเนินชีวิตได้

 

พปชร.เปิดศึกปชป. 

 

ก่อนหน้านี้ เรื่องการ “ประกันราคาข้าว” ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ประชาธิปัตย์ มาแล้ว จากกรณีที่ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ออกมาตำหนิการจ่ายเงินประกันรายได้นั้น จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ การเกษตรการไม่พัฒนา
สันติ พูดเรื่องนี้เมื่อวันที่ 9 พ.ย.64 ว่า

 

“การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ควรคำนึงถึงการลดต้นทุนให้เกษตรกร เพราะการจ่ายเงินประกันราคาให้เกษตรกรนั้น จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ระบบการเกษตรไม่ได้รับการพัฒนา เมื่อช่วยเหลือแบบนี้เมื่อไรจะจบลงเสียที”

 

นายสันติ ระบุด้วยว่า “การดำเนินโครงการประกันรายได้เพื่อช่วยเหลือชาวนาในช่วงราคาข้าวตกต่ำ ถือเป็นผลงานของรัฐบาล ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ขณะที่การหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ก็ถือเป็นหน้าที่ของกระทวงการคลัง ดังนั้นไม่ว่าใครจะได้หน้าหรือไม่ได้หน้า กระทรวงการคลังก็ต้องหาเงินมาเพื่อช่วยเกษตรกร”

                                   “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์"เปิดศึกชิงฐานเสียง

ปชป.เอาคืน

 

ทันทีที่ สันติ จากพรรคพลังประชารัฐ ออกมาระบุเช่นนั้น ทำให้พลพรรค ปชป.ดาหน้าออกมาตอบโต้ทันที ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ระบุว่า โครงการประกันรายได้เป็นนโยบายของพรรค ที่คิดและทำเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้มแข็งอยู่ได้โดยมีหลักประกันในเรื่องรายได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านราคาผลผลิตที่มีผลโดยตรงกับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร 

 

เมื่อมีปัญหาเรื่องราคาข้าวพี่น้องชาวนาก็จะได้รับส่วนต่างรายได้ที่ขาดหายไป ซึ่งโครงการประกันรายได้ มีเกษตรกรเกือบ 8 ล้านครัวเรือนทั้งประเทศ ได้รับประโยชน์ มีความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งขึ้น เงินส่วนต่างเป็นจำนวนเงินที่ไปช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

 

“นโยบายประกันรายได้ คือ คำสัญญาของสถาบันทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อหาเสียงไว้แล้ว ก็ทำตามคำสัญญา และพรรคได้ผลักดันจนเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นทำงานร่วมกันในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร นโยบายประกันรายได้ ทำไม่ให้เกษตรกรอ่อนแออย่างที่นายสันติพูด

 

แต่ที่น่ากังวลคือความคิดของนักการเมืองที่อ่อนแอลง การทำงานไม่ใช่คิดว่าใครจะได้หน้าหรือเอาหน้า แต่เมื่อมีหน้าที่ก็ต้องทำประโยชน์ให้กับประชาชนให้สมบูรณ์ที่สุด การตระหนักในหน้าที่ของตนสำคัญที่สุดไม่เช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าตำหนิที่สุด”

 

อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ รองโฆษก ปชป. กล่าวเช่นกันว่า โครงการประกันรายได้เป็นโครงการของพรรค ที่เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งในตอนจัดตั้งรัฐบาลหาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบรับโครงการนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เข้าร่วมรัฐบาล เพราะเป็นโครงการที่พรรคได้ใช้ในการหาเสียงไว้กับประชาชน 

 

ดังนั้น พรรคต้องรับผิดชอบโครงการที่หาเสียงไว้ รวมถึงโครงการนี้ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา ดังนั้นรัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าในแต่ละปีต้องทำอย่างไรและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปหางบประมาณมาจัดสรรให้เพียงพอ ไม่ใช่มาบอกว่าเป็นภาระงบประมาณหรืองบประมาณไม่เพียงพอ

 

ขณะที่ อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคปชป. และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค ออกมายืนยันว่า ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นธุระของรัฐบาลในการบริหารนโยบาลให้สำเร็จตามที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาล  

 

เพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้ จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในช่วงที่เกิดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตร จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด -19 ที่ทำให้เศรษฐกิจวิกฤตไปทั่วโลก ถือเป็นนโยบายเรือธง ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล

 

ประกันข้าวสร้างภาระ  

 

ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อโครงการประกันราคาข้าวนั้น เมื่อวันที่ 16 พ.ย.64 ที่จ.กระบี่ ได้ระบุว่า เรื่องของการปรับโครงสร้างการเกษตรของเราให้มันดีขึ้น ทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ค่าเช่าที่นาเป็นไปตามกฎหมาย 

 

“ไม่เช่นนั้นเราก็ใช้การประกันราคาข้าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำมานานแล้ว มันก็เป็นประโยชน์แต่มันเป็นภาระ แทนที่เราจะทำให้เขาเข้มแข็ง ก็กลายเป็นว่าเขาไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม ก็ต้องหาวิธีการใหม่"
นายกฯ กล่าวว่า ตนได้ให้แนวทางไปแล้วตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง กับหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง วันนี้ก็ต้องไปเร่งสำรวจดูว่า คนที่ได้รับรายได้จากการประกันราคา ได้จริงหรือไม่ ข้าวที่ออกมาแล้วไปอยู่ที่ไหน  

 

"แล้วทำไมชาวบ้านบ่นว่าได้แค่ 6 พัน มันเป็นเพราะอะไรในเมื่อเรา มีการประกันรายได้ไปแล้วโรงสีต้องสำรวจกันใหม่” 

 

ถัดมาเมื่อ 25 พ.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งราคาสินค้าเกษตรผันผวนทำให้เกิดปัญหา เกิดผลกระทบโดยรวม อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูง ส่วนต่างกำไรน้อย  

 

“รัฐบาลประกันราคาข้าวซึ่งใช้เงินมหาศาล ได้สั่งการให้แก้ปัญหาเรื่องงบประมาณที่มีไม่เพียงพอไปแล้ว เราคงต้องระวังที่สุด ถ้าใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จะทำอย่างไร ต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ดีกว่าไปแก้ที่ปลายทางอย่างเดียว ใช้เงินเยอะเกินไปจนทำอย่างอื่นไม่ได้”

 

ต่อมาเมื่อ 26 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้เสนอขึ้นมา เพราะต้องรับผิดชอบ ระเบียบวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องไม่ผิดกฎหมาย เพื่อเสนอแผนงานโครงการขึ้นมา อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติในขณะนี้ เช่น การประกันราคาข้าว ก็ต้องไปดูว่าใครได้ประโยชน์บ้าง หรือ เกษตรกรได้รับประโยชน์จริงหรือไม่ หรือใครได้รับประโยชน์ 

 

ไล่เลี่ยงวิวาทะว่าด้วยเรื่อง “ประกันราคาข้าว” มาให้เห็น เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ระหว่าง “พลังประชารัฐ” กับ “ประชาธิปัตย์” กำลังเปิดศึก "ชิงฐานเสียง” จาก “ครอบครัวชาวนา” ที่ทั้งประเทศมีอยู่เกือบ 8 ล้านครัวเรือน หากครัวเรือนละแค่ 2 คน ก็อาจจะมี “คะแนนเสียง” ร่วม 16 ล้านเสียงแล้ว 

 

การเมืองว่าด้วยเรื่อง “ข้าว” ถือเป็นอาวุธสำคัญของพรรคการเมืองในทุกยุคทุกสมัยในการหาเสียง...