ร้อง ป.ป.ช.-กกต. สอบ 11 ส.ส.พรรคเพื่อไทยปมร่วมวง "ทักษิณ" วิดีโอคอล

20 ต.ค. 2564 | 05:25 น.

ศรีสุวรรณ ยื่นร้อง ป.ป.ช. - กกต. จี้ปมสอบ 11 ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมวง "ทักษิณ" อดีตนายกฯ วิดีโอคอล ชี้ เข้าข่ายครอบงำ-ชี้นำพรรคการเมืองหรือไม่

20 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบและวินิจฉัย

กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้วิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยกับ ส.ส.และผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยกลางวงงานเลี้ยงสังสรรค์ ในพื้นที่ย่านเหม่งจ๋าย เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมืองหรือไม่นั้น

การจัดเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าวมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฎว่ามีการเสริฟไวน์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ฉบับที่ 34 ที่ออกตามความใน ม.9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน 2548 ประกอบ ม.34(6) ของพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งผู้ที่อยู่ในงานเลี้ยงดังกล่าวส่วนใหญ่เป็น "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" บางคนเป็นถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ

แต่กลับปรากฎว่า ได้กระทำเสียเองซึ่งอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะทำการไต่สวน วินิจฉัย และเสนออัยการฟ้องต่อศาลเพื่อลงโทษให้พ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งได้

นอกจากนั้น การที่ ส.ส.และผู้บริหารของพรรคเพื่อไทย มีปฏิสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับนายทักษิณ ถึงขนาดให้วิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยด้วย อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน ม.28 ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ได้เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม"

ส่วนนายทักษิณก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.29 ที่กำหนดว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคการเมืองกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่า โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม"

สมาคมฯจึงต้องไปร้องให้ กกต.วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ด้วย เพราะอาจเข้าข่ายความผิดตาม ม.92(3) ของกฎหมายดังกล่าวและ กกต.มีหน้าที่ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคนั้นได้

ทั้งนี้ สำหรับส.ส.และผู้บริหารพรรคเพื่อไทยที่ปรากฎในงานเลี้ยง อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นายไชยา พรหมมา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ นายนพ ชีวานันท์ นายชลน่าน ศรีแก้ว น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี และยังมีนายภูมิธรรม เวชยชัย อีกด้วย นายศรีสุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย