"ชวน"แนะให้นำคดี“นายกฯ-รมต.-ขรก.”ติดคุก เป็นบทเรียนในหลักสูตร นยปส.

17 ก.ย. 2564 | 08:03 น.

"ชวน"แนะให้นำคดีที่ “นายกฯ-รมต.-ข้าราชการ”ติดคุก มาเป็นบทเรียนในหลักสูตร นยปส. ย้ำนักการเมืองซื้อเสียงมีหรือจะไม่โกง ขรก.ซื้อตำแหน่งมามีหรือไม่รีดไถ ไม่มี ดังนั้นต้องรณรงค์เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

ที่สำนักงาน ป.ป.ช. วันนี้(17 ก.ย. 64) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรยายพิเศษเรื่อง “ธรรมาภิบาล คุณธรรม และความโปร่งใสในการป้องกันการทุจริต” ในเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “กลยุทธ์การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศ” จัดโดยนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตรระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 12  ผ่านระบบซูม

 

นายชวน กล่าวว่า จากที่ดูรายชื่อผู้เข้าอบรมล้วนแต่เป็นผู้มีสถานภาพและมีตำแหน่งในส่วนราชการสูง ในภาคเอกชนก็เป็นผู้บริหารระดับสูงด้วยกันทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่าพื้นฐานความเข้าใจในหัวข้อ ธรรมาภิบาล คุณธรรม และความโปร่งใสในการป้องกันการทุจริตนี้ ทุกคนมีพร้อมเพรียงอยู่แล้ว  ตนอาจจะไม่ต้องพูดอะไร ทุกคนก็มีความเข้าใจในเรื่องที่จะพูดดีอยู่แล้ว อาจจะมาย้ำในบางเรื่อง

 

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่จัดอบรมขึ้นมานี้ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับฟังการอภิปรายเวลามีการรายงานกิจกรรมขององค์กรอิสระ ก็มีผู้ต่อต้านคัดค้านไม่เห็นด้วย กับการจัดหลักสูตรพิเศษเหล่านี้ ซึ่งเหตุผลสำคัญอันหนึ่งคือ กลัวการสร้างเครือข่ายเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว แต่ความจริงแล้ววัตถุประสงค์ของหลักสูตร แม้แต่หลักสูตรนี้ ส่วนหนึ่งก็คือการสร้างเครือข่าย แต่เป็นเครือข่ายที่ร่วมมือทำงานเพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ

ทั้งนี้ เมื่อได้จัดหลักสูตรแล้วภาระหน้าที่ของทุกคนก็ต้องทำให้สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร  คือ

 

1.สร้างผู้นำในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปรับปรามการทุจริตไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

 

2.สร้างผู้นำผู้บริหารต้นแบบที่มีวิธีคิดดิจิทัล ในการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม มีคุณธรรมจริยธรรมและใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์กร 

 

3.สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดพลังร่วม ใน การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกภาคส่วน 

 

4.สร้างความเข้าใจบทบาทภารกิจของ ป.ป.ช.เมื่อทราบหลักการและเหตุผลของการจัดหลักสูตรนี้แล้ว หมายความว่าทุกคนที่มาเข้าหลักสูตรในรุ่นนี้ต้องรู้ว่า ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นการเฉพาะตัว   แต่หวังให้เข้าใจภารกิจว่า การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบนั้น ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการไปมีบทบาทสร้างเครือข่าย เพื่อร่วมต่อต้านการทุจริตประพฤติไม่ชอบด้วย และต้องเป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำ เป็นต้นแบบ แยกแยะประโยชน์ส่วนตน และส่วนรวม มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีหลักธรรมาภิบาล

นายชวน กล่าวว่า เราจะเห็นว่าเรื่องการป้องกันทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องจัดหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน  ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าเรามีปัญหาเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบในแวดวงบ้านเมืองของเราอยู่ตลอดมายาวนานแล้ว มากบ้าง น้อยบ้าง ตามยุคตามสมัย  และแนวโน้มยังมีอยู่ทุกวันนี้  ทุกวงการ ทุกภาคส่วน ส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น 

 

“ด้านการเมืองในฐานะเป็นนักการเมือง และอยู่กับการเมืองมา 52 ปี  อยู่ต่อเนื่องก็พูดได้ในฐานะประจักษ์พยาน ว่า แนวโน้มการทุจริตประพฤติมิชอบมีแนวโน้มไม่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากส่วนราชการ ฝ่ายราชการร่วมมือด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่ ฉะนั้น อย่าแปลกใจที่มีบางยุคบางสมัย ที่เราคิดว่าใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีประชาธิปไตย แต่กลายเป็นยุคสมัยที่มีรัฐมนตรีติดคุกมากที่สุด

 

ป.ป.ช.เจ้าของหลักสูตรควรจะนำคดีเหล่านั้นมา ให้นักศึกษาได้ดู คดีที่ยังไม่จบก็เก็บไว้ก่อน แต่คดีที่จบแล้ว มีคนติดคุกไปแล้ว มีคนถูกลงโทษไปแล้วมากมาย ที่ ป.ป.ช.มีส่วนร่วมในหลายคดี บางคดีที่ป.ป.ช.ไม่ได้มีส่วนร่วมก็ควรไปนำมาให้นักศึกษาได้ศึกษารวบรวมเอาไว้ศึกษา เพราะทุกเรื่องมีประโยชน์ ในเชิงที่จะทำให้เราได้รู้ว่า บ้านเมืองเรามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

"ทำไมคนระดับนั้น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ลงมาถึงข้าราชการ ตั้งแต่ภาครัฐถึงเอกชน ทำไมต้องมีคนติดคุกอย่างนั้น เราจะได้เข้าใจว่าที่ไปที่มาเป็นอย่างไร อาจจะเป็นบทเรียน เป็นวิธีป้องกัน ไม่ให้คนของเรา หรือตัวเราเองต้องอยู่ในชะตากรรมเช่นนั้น”

 

ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า การทำสิ่งที่มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริตโกงกิน ไม่บิดเบือน ไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่คดโกง โปร่งใส เปิดเผย ตรงไปตรงมา มีการให้คำนิยาม คุณธรรม ธรรมาภิบาล จริยธรรม ซึ่งถ้าเราเข้าใจที่มาของคำเหล่านี้ จะทำให้รู้ว่าทั้งหมดอยู่ในเรื่องของคำว่าธรรมาภิบาล ซึ่งหลังจากที่ประกาศใช้ธรรมาภิบาล 6 ข้อแล้ว ยังมีการกระทำผิดเกิดขึ้นมาก

 

เช่น ผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย เกรงใจบิ๊กบอส เกรงใจนาย อนุมัติเงินกู้ให้เอกชนไป ผิดกฎหมาย ติดคุก 18 ปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำสัญญาเจรจาข้าวจีทูจี ผิดพลาดติดคุกกว่า 40 ปี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ติดคุก 2 ปี เพราะไปใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์ของลูกนักการเมือง ดังนั้น ตนจึงอยากให้สังคมไทยเรามีธรรมาภิบาลข้อที่ 7 คือ ต้องไม่เกรงใจนาย เพราะถ้านายเราให้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ยอมขัดใจนายดีกว่าติดคุกในวันข้างหน้า เพราะหลายกรณีที่ติดคุกทั้งหมด คนที่สั่งไม่ติดเลย

 

“ขอแนะนำให้ไปอ่านพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 และ วันที่ 5 ธันวาคม 2553 ที่ได้รับสั่ง 2 ปีซ้ำ ว่า ขอให้ท่านทั้งหลาย ประชาชนทุกหมู่เหล่า พิจารณาให้ท่องแท้ว่าหน้าที่ท่านคืออะไร แล้วทำหน้าที่นั้นด้วยความรับผิดชอบ”

 

นายชวน กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ที่สภากำลังทำโครงการบ้านเมืองสุจริต โดยเชิญครูอาจารย์ทั่วประเทศ ให้มีตัวแทนจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎ เทคโนโลยีราชมงคล มาร่วมกันออกนโยบายอบรมเยาวชน ประชาชนทุกหมู่เหล่า ในการรณรงค์เรื่องความซื่อสัตย์ ให้เชื่อความสุจริต เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไปสู่เส้นทางทุจริต มืดมัวในวันข้างหน้า

 

“นักการเมืองซื้อเสียงมีหรือจะไม่โกง ข้าราชการซื้อตำแหน่งมามีหรือไม่รีดไถ ไม่มี เพราะฉะนั้นเราจะป้องกันสิ่งนี้ได้ คือ ต้องทำให้เกิดความสุจริต หลักการที่ดีและคนที่ดี กับภาคปฏิบัติจึงต้องไปด้วยกันทั้งหมด” ประธานรัฐสภา ระบุ