ภาคีนักกฎหมาย-สื่อออนไลน์ร้องศาลแพ่งเพิกถอนคำสั่งปิดปากสื่อ-ประชาชน

02 ส.ค. 2564 | 06:44 น.

ภาคีนักกฎหมายฯ จับมือตัวแทนสื่อออนไลน์ ร้องศาลแพ่ง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามพรก.ฉุกเฉิน และ ขอคุ้มครองชั่วคราว ที่ให้อำนาจนายกฯสั่ง กสทช.ตัดอินเตอร์เนต แจ้งความดำเนินคดีประชาชน สื่อมวลชน ที่โพสต์ข้อความล่อแหลม 

วันนี้(2 ส.ค.64) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนสื่อออนไลน์รวม 12 แห่ง เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้ ศาลมีคำสั่ง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 หรือ สบค. “ยกเลิก” ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ที่ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการบริหารกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการใช้บริการอินเตอร์เนต ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรสื่อความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรคมนาคมทุกรายให้มีการตรวจสอบข้อความหรือข่าวสารมีที่มาจาก IP ADDRESS โดยให้แจ้งรายละเอียด ตามที่ สำนักงาน กสทช.กำหนด และให้แจ้งการใช้อินเตอร์เนต รวมทั้งให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งพนักงานสอบสวน ดำเนินการตามกฎหมาย

 

สำหรับคำร้องมีสาะสำคัญสรุปได้ว่า ข้อกำหนด เรื่องการห้ามนำเสนอข่าวหรือข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ถือว่า ไม่ชัดเจน คลุมเคลือ แม้จะเป็นความจริงก็อาจจะถูกตีความว่าทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและเป็นความผิดทางอาญาได้ ขัดต่อหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ” (No crime nor punishment without law) และเป็นการจำกัดสิทธิที่เกินกว่าเหตุ

 

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดสั่งให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ โดยข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งกำหนดให้สำนักงาน กสชท. แจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ตตรวจสอบ IP address และให้แจ้งสำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) นั้นทันที จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่วออกโดยไม่มีฐานทางกฎหมายให้อำนาจ ออกโดยกฎหมายแม่บทไม่ได้ให้อำนาจไว้ รวมถึงขัดต่อรัฐธรรมนูญฯในประเด็นอื่น ๆ

 

ทั้งนี้รัฐสามารถใช้กฎหมายฉบับอื่นหรือกลไกอื่นที่มีอยู่แล้วเพื่อดำเนินคดีกับคนที่ปล่อยข่าวปลอม หรือขอให้ระงับหรือลบข่าวปลอมหรือข่าวที่บิดเบือนตามที่อ้างเป็นเหตุในการออกข้อกำหนดได้ เช่น ดำเนินคดีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 14 หรือ ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 20 ซึ่งขอให้ระงับการเข้าถึงหรือลบข่าวนั้น โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ขึ้นมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีความจำเป็น ซ้ำซ้อน เป็นการจำกัดเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุและรัฐธรรมนูญ


 

โดยรัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการสื่อสารระหว่างกัน การลบข้อมูลหรือปิดกั้นการสื่อสาร รัฐจะทำได้เพียงแค่เฉพาะเนื้อหาข้อความที่เป็นความผิดหรือขัดต่อกฎหมายเป็นรายข้อความเท่านั้นโดยไม่มีอำนาจจำกัดปิดกั้นข้อความอื่น ๆ หรือช่องทางสื่อสารทั้งช่องทาง ทั้งแพลตฟอร์ม และไม่สามารถปิดกั้นการสื่อสารในอนาคตได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคำสั่งของศาลอาญาที่เคยวินิจฉัยไว้แล้ว

 

แต่ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งกำหนดให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) นั้น ย่อมทำให้ประชาชนผู้รับบริการต้องถูกตัดขาดการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตผ่านช่องทางเลขที่ไอพี (IP Address) ที่ถูกระงับโดยสิ้นเชิง ถูกปิดกั้นทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม ไม่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ไม่ว่าจะเป็น เว็ปไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

และยังปิดกั้นการใช้อินเตอร์เน็ตการสื่อสารในอนาคตด้วย แบบไม่จำกัดระยะเวลา โดยไม่จำกัดปิดกั้นเพียงแค่โพสต์ หรือ ข้อความเนื้อหาที่เป็นความผิด หรือ ขัดต่อกฎหมายเป็นรายข้อความเท่านั้น อันถือได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

 

ดังนั้นจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ด้วย นอกจากนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังยื่นฟ้อง ศาลได้รับคำฟ้องไว้ในสารบบเป็นคดีหมายเลขดำ พ.3618/2564 เพื่อนัดชี้สองสถานต่อไป ส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวขณะนี้ศาลยังไม่มีคำสั่งลงมา

นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ กล่าวว่า วันนี้ตัวแทนสื่อและภาคประชาชนรวมกัน 12 คนมา ยื่นคำร้องขอเพิกถอนข้อกำหนด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อที่ 29 ซึ่งออกโดยนายกรัฐมนตรี ในลักษณะที่ห้ามไม่ให้นำเข้า ข้อความที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งการกำหนดแบบนี้ทางเรามองว่าขัดกับ รัฐธรรมนูญของกฎหมายอาญา ที่ต้องชัดเจนแน่นอนไม่คุมเครือ หรือกำกวม ซึ่งข้อกำหนดแบบนี้อาจทำให้ตีความได้ว่า แม้นำข้อความจริงหรือนำเสนอข่าวตามความจริงก็อาจจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดฉบับนี้ได้ 

 

ทั้งนี้ การกำหนดลักษณะดังกล่าวขัดต่อหลักความชัดเจน ขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องที่ 2 โดยหลักแล้วสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 26 การจำกัดในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการจำกัดเสรีภาพ ในการเสนอข่าว ด้วยความจริงอย่างตรงไปตรงมา 

 

ประเด็นที่ 2 ข้อกำหนดฉบับนี้ให้อำนาจ กสทช. สั่งให้ผู้ให้บริการทำการตรวจสอบ ข้อมูลว่าผู้ใดกระทำผิดและให้มีอำนาจ ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตการกำหนดลักษณะนี้มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ คือในพรก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ จึงเป็นการทำเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ตาม การ“ตัดอินเตอร์เน็ต”เป็นการกระทำเกินกว่าแนวของศาลอาญา หรือเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพทางการแสดงออก หากจะการปิดกั้นหรือลบข้อความได้ ก็ควรจะลบได้เป็นรายข้อความที่เป็นความผิดต่อกฎหมายเท่านั้น

 

แต่การกำหนดระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จะทำให้ผู้ที่ถูกระงับไม่สามารถใช้งานได้ในทุกแพลตฟอร์ม และยังถือว่าเป็นการปิดกั้นการสื่อสารในอนาคต ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 

 

สังคมอาจจะมีคำถามว่า ถ้าเกิดไม่มีข้อกำหนดฉบับนี้รัฐจะจัดการต่อข่าวปลอมหรือข่าวที่บิดเบือนอย่างไร ขอเรียนว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกพ.ร.ก. เพราะว่ารัฐสามารถใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดำเนินคดีสำหรับคนที่เผยแพร่ข่าวปลอม หรือ ข่าวที่บิดเบือนได้อยู่ 

 

ส่วนในกรณีที่รัฐเห็นว่า จำเป็นที่ต้องลบข้อความก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 20 ในการยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีคำสั่งให้ลบข้อความได้ การกำหนดข้อลักษณะนี้ จึงไม่มีความจำเป็น ที่สำคัญข้อกำหนดนี้ยังให้ กสทช.มีอำนาจเด็ดขาดโดยไม่ต้องผ่านศาล ตรวจสอบและไม่ให้คู่ความอีกฝั่งหนึ่งคัดค้านได้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างยิ่ง

 

ขณะที่ น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือ แยม ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว เดอะ รีพอร์ตเตอร์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ฉบับที่ 29 ที่มีข้อกำหนด ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมายในด้านของประชาชน และสื่อมวลชน ซึ่งได้รับผลกระทบการใช้อินเตอร์เนต เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน และการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน รวมทั้งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

 

ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เราต้องรับทราบข้อมูลข่าวสาร และมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง มีประชาชนที่ล้มป่วย และเสียชีวิตจำนวนมากที่ร้องขอรับการรักษา มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตในบ้านพัก ที่รอการรักษาที่โรงพยาบาล นี่คือหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องรายงานความเดือดร้อนของประชาชนให้รับทราบ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มิได้สร้างความหวาดกลัว ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อ 29 จึงเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวศาลของประชาชน และการทำงานของสื่อมวลชนเราตระหนักเรื่องจรรยาบรรณในวิชาชีพอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากประเด็นที่รัฐจะจัดการกับเฟคนิวส์ โดยเฟคนิวส์ หรือ ข่าวปลอมนั้น มีกฎหมายที่จะดำเนินการอยู่แล้ว

 

“สถานการณ์แบบนี้รัฐควรเอื้อให้ประชานได้มีพื้นที่ร้องขอความช่วยเหลือและรักษาตัวเอง ทั้งนี้เราไม่ได้หวาดกลัวข้อกำหนดนี้ เราออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของทุกคนมากกว่า ความจริงแล้วการที่ประชาชนนำเสนอข่าวในการเรียกร้องว่ามีคนตาย ต้องการความช่วยเหลือ เราควรรีบเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และช่วยเหลือเขามากกว่า แทนที่จะไปปิดกั้น”