ทนายแจง“บริษัทไทยน็อคซ์”ไม่ได้รุกป่า ยืนยันซื้อโฉนดมาโดยชอบ 

30 ก.ค. 2564 | 11:46 น.

ทนาย บริษัทไทยน็อคซ์ แจงไม่ได้รุกป่า ซื้อโฉนดมาโดยชอบ  หลังป.ป.ช.ชี้มูล “เจ้าหน้าที่รัฐ-กลุ่มบริษัทเอกชน” คดีออกโฉนดที่ดินรุกป่าสงวนไปทำสนามกอล์ฟ

กรณีมีรายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้พิจารณากรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ทุจริตเกี่ยวกับการออกโฉนดในเขตที่ดินของรัฐ  ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดินโดยมิชอบ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเจ้าพนักงานที่ดินนครราชสีมา สาขาสีคิ้ว กับพวก ประมาณ 5-6 ราย เช่น  หัวหน้าฝ่ายรังวัด  ช่างรังวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ กลุ่มบริษัทเอกชน คือ บริษัท ไทยน็อคซ์ สเตนเลส โดยมีชื่อของนายประยุทธ มหากิจศิริ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาถูกชี้มูลด้วย
โดยพบพฤติการณ์ว่า กลุ่มเอกชนได้ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐสอบเขตขยายเนื้อที่ของโฉนดที่ดิน เพื่อนำมาสร้างสนามกอล์ฟ เมาน์เทน ครีก กอล์ฟ แอนด์รีสอร์ท แอนด์ เรสซิเดนซ์ นครราชสีมา ถือเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน  

 

จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มเอกชนได้ไปซื้อที่ดินที่ที่มีโฉนด และซื้อที่ดินที่ไม่มีหลักฐานก่อนจะนำมาสอบเขต เพื่อนำที่ดินที่ไม่มีหลักฐานนั้นเข้าไปรวมด้วย  ซึ่งที่ดินที่ไม่มีหลักฐานมีทั้งอยู่ในเขต ส.ป.ก.และเขตป่าสงวน เพื่อนำไปจัดทำสนามกอล์ฟดังกล่าว ถือว่าร่วมกันการกระทำความผิด  แต่เนื่องจากเอกชนไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงถูกชี้มูลความผิดตามมาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86  และมีบางรายโดนมาตรา 149 ด้วย รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้  ในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐถูกชี้มูลความผิดตามมาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 149 และมีความผิดวินัยร้ายแรง 

ในวันนี้ (30 ก.ค.64) นายประพันธุ์ คูณมี ในฐานะทนายความของนายประยุทธ มหากิจศิริ ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์  ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่ว่า นายประยุทธ มหากิจศิริ ไปครอบครองป่าสงวน  หรือ บุกรุกที่ป่าแล้วนำไปออกโฉนดเพื่อจะมาทำสนามกอล์ฟ หรือไปยึดที่หลวงเพื่อเอามาออกโฉนดเล่นแร่แปรธาตุแล้วมาทำสนามกอล์ฟ ที่ดินที่ซื้อมาทำสนามกอล์ฟนี้ไม่ได้ซื้อในนามส่วนตัวของนายประยุทธ แต่ซื้อในนามบริษัท ไทยน็อคซ์ สเตนเลส ที่เป็นเจ้าของ สนามกอล์ฟเมาน์เทน ครีก กอล์ฟ แอนด์รีสอร์ท แอนด์ เรสซิเดนซ์ นครราชสีมา 

 

โดยเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่ดินทั้งหมด 2,300 ไร่นี้ เป็นที่ดินมีโฉนด มี นส. 3 อยู่แล้ว เป็นที่ดินของสมาคมม้าแข่งแห่งประเทศไทยกว่า 1,200 ไร่  โดยสมาคมไปซื้อต่อมาจากชาวบ้านมีโฉนดตั้งแต่ปี 2517 ซื้อขายต่อกันมา สมาคมนำไปจำนองธนาคารปี 2540 ที่ดินเหล่านี้ถูกยึดไปอยู่ในธนาคาร ในบริหารสินทรัพย์ แล้วบริษัทไทยน๊อก จึงไปซื้อต่อมาโดยไม่ได้ไปรุกที่ป่า ทั้งหมดนี้เป็นที่มีโฉนดเกือบทั้งหมด และ นส.3บางส่วน 

 

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของเรื่องไม่ใช่ว่าเป็นการบุกรุกที่ป่า  แต่เป็นเรื่องที่ซื้อมาแล้วต้องการมาพัฒนาทำเป็นสนามกอล์ฟ  จึงต้องมีการแบ่งแปลง มีการรังวัด สอบเขต มีการรวมโฉนด เพื่อสร้างสนามกอล์ฟ เส้นทางสาธารณะ จัดสรรเป็นหมู่บ้าน เพื่อขายทำเป็นรีสอร์ท 

 

อย่างไรก็ตาม คดีนี้เกิดจากมีการรังวัดสอบเขต หรือ แบ่งแยกที่ดินของผู้ซื้อ แต่ต่อมามีการกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานที่ดินที่ไปรังวัด สอบเขตแบ่งแยกให้นั้น ปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่ออกโฉนดให้กับบริษัท เพราะมีที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูป หรือป่าสงวนบางส่วนเข้ามาอยู่ในโฉนดที่ดิน บางแปลงมีที่ดินเพิ่มขึ้น บางแปลงมีที่ดินลดลง ซึ่งส่วนที่มีเพิ่มขึ้น ประมาณไม่เกิน 100 ไร่ 
 

นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวถูกตรวจสอบมาหลายครั้ง มีทั้งกรมป่าไม้ร่วม กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ  (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อสอบสวนว่าที่ดินที่งอกออกมานั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และรุกป่าเลย เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่พบ พบเพียงส่วนเกินเข้าไปในที่ดินปฏิรูปหรือป่าสงวนเพียง 1  ไร่เศษ  

 

ทางหน่วยตรวจสอบจึงเสนอไปกรมที่ดินว่า ในส่วนที่เกินที่เกิดจากการรังวัดคลาดเคลื่อนนั้น ให้กรมที่ดินมีคำสั่งมีหนังสือให้มีการเพิกถอนและแก้ไขสิทธิ จึงมีหนังสือแก้ไขโฉนดมา แต่บริษัทเห็นว่าซื้อมาโดยชอบ เจ้าของที่ดินข้างเคียง อบต. อบจ. นายอำเภอรับรองถูกต้องหมดเมื่อครั้งรังวัดแนวเขต จดทะเบียนจ่ายเงินซื้อจากโฉนด จะมาถอนที่ดินคงไม่ถูกต้อง  จึงไปฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดิน ซึ่งต่อมามีผู้ไปร้องเรียนยังสำนักงานป.ป.ช. 

 

“เมื่อป.ป.ช. มาตรวจสอบ อธิบดีกรมที่ดินได้ทำหนังสือมาถึงเรา และหน่วยงานราชการปราบทุจริตด้วย ว่าตรวจสอบการออกเอกสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดของทั้งโครงการนี้แล้ว ที่น่าจะมีปัญหารางวัดคลาดเคลื่อนในพื้นที่นี้ผิดไป หรือล้ำไปในที่ป่าสงวนหรือที่ปฏิรูปที่ดินทั้งหมดมีเพียง 4 แปลง  ประมาณ 70-80 ไร่ เราก็ต้องสู้ตามข้อกฎหมายไปอย่างเต็มที่ ไม่มีปัญหา ยืนยันว่าสนามกอล์ฟไม่ได้ไปรุกที่ป่า ซื้อมาโดยถูกต้องเป็นโฉนดตรวจสอบได้”

 

ทั้งนี้ สำหรับคดีใน ป.ป.ช.เป็นการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดิน ช่างรังวัด ว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะแจ้งข้อกล่าวหาพนักงานที่ดินปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และ นายประยุทธ ฐานสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของเจ้าหน้าที่ ทางบริษัท จึงคิดว่าเกี่ยวเนื่องมาจากคดีที่อยู่ศาลปกครอง จึงได้ไปถอนฟ้อง และทำหนังสือยืนยันไปว่า หากที่ดินส่วนไหนรุกที่ป่าก็ยินยอมคืนให้