ก้าวไกล บี้"ศักดิ์สยาม" งบ"65 เน้นถนน สนามบินเอื้อนายทุน

03 มิ.ย. 2564 | 04:08 น.

“สุรเชษฐ์”ก้าวไกล  ซัด คมนาคมเน้น ถนน  สนามบิน  เอื้อทุนใหญ่ ย้ำซ้ำซ้อน “ศักดิ์สยาม” โต้ลงเงินไปกับรางมากกว่า

 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564  อาคารรัฐสภา เกียกกาย ในการอภิปรายเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ผ่าน นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากงบประมาณปี 2565 ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลยังคงจัดสรรแบบเดิม โดยในปีนี้มีสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่ 6.24 แสนล้านบาท คิดเป็น 20.14% ของงบประมาณทั้งหมด และเป็นเงินกู้ทั้งหมด โดยจากการสแกนเบื้องต้นเป็นงบที่พัฒนาประเทศจริงๆที่ 2.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 9.36% 

โดยระบุว่า กระทรวงคมนาคมงบลงทุรนมากโดยเน้นโครงการถนนกระจุกตัวในกรุงเทพมหานคร สะท้อนจาก งบลงทุนทั้งก้อนอยู่ที่ 4.73 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้งบในส่วนนี้มากที่สุดถึง 34.6% และมีกรมทางหลวง (ทล.) ได้งบลงทุนสูงสุดที่ 109,443 ล้านบาท คิดเป็น 23.2% ของงบลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งได้งบที่ 44,717 ล้านบาท คิดเป็น 9.5% ของงบลงทุนทั้งหมด จึงมีคำถามว่า การลงทุนของประเทศคือการสร้างถนนหรือ 

สุรเชษฐ์ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายและยังมีการยื้อแย่งงบประมาณกันในแบบ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” ของพื้นที่ต่างๆด้วย เราต้องคิดว่างบมีจำกัด หากจัดสรรประโยชน์แบบนี้จะมีเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ควรจะจัดสรรงบแบบเป็นธรรม ขณะตัวชี้วัดที่ระบุถึงความสำเร็จในการใช้งบประมาณก็มีข้อกังขา เช่น กรมทางหลวง (ทล.) ตัวชี้วัดคืออัตราเสียชีวิตคงที่ที่ 1.94 คน/100,000 คน ถามว่าตั้งตัวชี้วัดแบบนี้ไม่อยากแก้ปัญหาและไม่อยากรับผิดชอบใช่หรือไม่และกำหนดความเร็วเฉลี่ยเป้าหมายแบบพอเป็นพิธีคือจาก 77.5-78 กม.ชม. ซึ่งวัดอย่างไร เฉลี่ยอย่างไร คลาดเคลื่อนเป็นจำนวนเท่าไหร่ และสะท้อนภาพรวมการใช้งบประมาณได้แค่ไหน

 ยังไม่รวมการเอื้อประโยชน์ให้นายทุน พวกพ้อง คอร์รัปชั่น และโครงการส่วนกลางเน้นแต่โครงการใหญ่ เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะมีภาระขาดทุนทั้งทางการเงินและทางเศรษฐกิจตามมา อีกทั้งไม่ได้ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน สมมติว่า ให้เงินท้องถิ่น 20,000 ล้านบาทไปคิดทำโครงการเองว่า เรื่องใดสำคัญ หากนำเงินให้ท้องถิ่นคิดเองประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้ดีมาก แต่ตอนนี้เราเป็นรัฐราชการรวมศูนย์

ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระดับเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคม ก็เน้นเอาเงินหลายล้านล้านบาทรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ ทำให้ประเทศไทยเท่ากับกรุงเทพฯ กรุงเทพฯเท่ากับประเทศไทย เหตุใดไม่กระจายโครงการออกไปตามหัวเมืองต่างจังหวัด เพื่อสร้างเมือง ไม่ใช่แค่ทำทางเชื่อมเมือง เช่น เส้นทางจากกรุงเทพไปนครราชสีมา มีรถไฟทางคู่แล้วยังมีรถไฟความเร็วสูงอีก แถมมีมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา ทับซ้อนอีก เป็นการเพิ่มเติมถนนมากขึ้นอีก เมื่อมีถนนเพิ่มอีก 2 เท่า แล้วคนที่มีรถส่วนบุคคลจะใช้ระบบรางทำไม และเมืองอื่น ท้องถิ่นอื่นไม่ต้องพัฒนาหรือ

ดังนั้น โจทย์ตอนนี้คือต้องลดความซ้ำซ้อนของโครงการต่างๆ ระหว่างเมืองลง ไปเน้นการสร้างเมืองแทน เพราะยังขาดเมืองประเภทหัวเมืองอีกมาก อย่างประเทศญี่ปุ่นมีหัวเมืองมาก เช่น โตเกียว โอซาก้า เซนได  ฟูโกโอกะ ซับโปโร่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ถนนในประเทศไทยก็แบ่งงานจัดการกันมั่วมาก โดยถนนที่ดูแลโดยหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)มีงบสำหรับซ่อมแซมถนนน้อยมากเพียง 58,000 บาท/กม.เท่านั้น เมื่อเทียบกับกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ทั้งๆที่จำนวนถนนที่ อปท ดูแลมีมากถึง 600,000 กม. โดย ทล.มีถนนในความดูแล 78,000 กม.ได้งบซ่อมถนนในปี 2565 ที่ 270,000 บาท/กม. ทช.มีถนนในความดูแล 50,000 กม. ได้งบซ่อมถนนในปี 2565 ที่ 350,000/กม. 

ส่วนงบประมาณเปรียบเทียบซ่อมแซม/ลงทุนใหม่ในปี 2565 ทล.มีสัดส่วนที่ 20/80 และทช. มีสัดส่วนที่ 40/60 ซึ่งเน้นไปที่การสร้างถนนไม่ใช่คิดสร้างเมือง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องออกจากความเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ และคิดใหม่ในเรื่องของการสร้างเมืองได้แล้ว

สุรเชษฐ์ยังระบุอีกว่า เช่นเดียวกันกับงบประมาณสนามบิน ทุกจังหวัดไม่จำเป็นต้องมี บางจังหวัดสามารถใช้สนามบินข้างเคียงได้ และที่แย่คือเมื่อมีสนามบินมากๆก็จะขาดทุน และแทนที่จะนำรายได้สนามบินที่มีกำไรมาอุดหนุนที่ขาดทุน ก็ดันจะเอาสนามบินที่มีกำไรโอนให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) อีก แล้ว ทอท  ก็เอาไปทำธุรกิจผูกขาดอีกสำหรับการกระจายของงบประมาณสำหรับการสร้างสนามบินปี 2565 ที่ระบุว่าไม่เหมาะสม ควรกระจายกรอบวงเงินจัดสรรงบไปให้ท้องถิ่นพิจารณา จัดลำดับโครงการที่ต้องการนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ประเทศไทยมีสนามบินของรัฐ 35 แห่ง โดยมี 29 แห่งในภูมิภาคอยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.)

ส่วนใหญ่ให้บริการภายในประเทศ อีก 6 แห่งเป็นสนามบินนานาชาติ อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ซึ่งกระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการลงทุนในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนโดยเป็นงบลงทุนต่อเนื่องไม่ได้เป็นการลงทุนก่อสร้างสนามบินใหม่ เช่น สนามบินกระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง บุรีรัมย์ และขอนแก่น
 ด้านนายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า การลงทุนถนนไม่มากนักปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมจะเน้นทงทุนระบบรางตามยุทธศาสตร์20ปี เพราะช่วยลดต้นทุนพลังงานค่าเดินทางมีความปลอดภัยสูง