พรรคร่วมร้าวลึก นับถอยหลัง ‘รัฐบาลลุงตู่’

01 พ.ค. 2564 | 23:10 น.

พรรคร่วมร้าวลึก นับถอยหลัง ‘รัฐบาลลุงตู่’ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,675 หน้า 12 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม 2564

สถานการณ์ประเทศไทยยามนี้ ยัง “จมปลัก” อยู่กับการแก้ไขปัญหาการระบาดลุกลามของ “ไวรัสโควิด ระลอก 3” อันมีต้นตอมาจาก “คลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ” 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 29 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยเพิ่ม 1,871 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 1,864 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 7 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 63,570 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 10 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 188 คน ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 35,394 ราย และผู้ป่วยที่รักษาอยู่ 27,988 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 786 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 230 ราย

นั่นคือสถานการณ์ด้าน “โควิด-19” ที่ต้องเอาใจช่วยรัฐบาล และคนไทยทุกคนให้ฟันฝ่าเอาตัวรอดไปให้ได้

 

ภูมิใจไทยชนนายกฯ

ขณะที่สถานการณ์ด้าน “การเมือง” ก็หนักพอๆ กับโควิด-19 ที่กำลังระบาด โดยเฉพาะปัญหาใน “พรรคร่วมรัฐบาล”

เรื่องแรกเป็นกรณีความไม่พอใจของ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีต่อ บิ๊กตู่-พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลัง “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกุล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถูก “กลุ่มหมอไม่ทน” ตั้งแคมเปญล่าชื่อกดดันขับไล่พ้นกระทรวงสาธารณสุข ด้วยเหตุผลที่ว่า “ล้มเหลว” ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19

จนเมื่อ 26 เม.ย. 64 “อนุทิน” ต้องออกมาแก้เกมโยนความรับผิดชอบให้ “นายกฯ” รับไปเต็มๆ คนเดียว โดยอ้างว่าทำตามนโยบายที่นายกฯ สั่งการ “นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร และในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.” อนุทิน ระบุ

สำทับด้วย “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ออกมาอัดนายกฯ ทำนองว่า “ถนัดใช้อำนาจพิเศษ รวบอำนาจการบริหารไว้คนเดียว”  

 

นายกฯยึดอำนาจอนุทิน

ไหนๆ ก็ถูกด่าว่าดังกล่าวแล้ว วันรุ่งขึ้น “บิ๊กตู่” ก็เลยออกคำสั่ง “ยึดอำนาจ” ตามกฎหมาย 31 ฉบับ มาไว้ที่ตนเองเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคนเดียวเสียเลย 

โดยเป็นการยึดอำนาจกฎหมายที่เป็นของ รมว.สาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล มากสุดถึง 12 ฉบับ ประกอบด้วย 

1. พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, 2. พรบ.บัญญัติยา พ.ศ. 2510, 3. พรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561, 4. พรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551, 5. พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535, 6. พรบ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551, 7. พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558, 8. พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541, 9. พรบ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559, 10. พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545, 11. พรบ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 และ 12.พรบ.อาหาร พ.ศ. 2522                                       

ขณะที่ รมว.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาฯ พรรคภูมิใจไทย ถูก “ริบอำนาจ” ไป 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พรบ.การเดินเรือในน่านนํ้าไทย พ.ศ. 2456, 2. พรบ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และ 3. พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522  

 

ปชป.ยัวะพปชร.

ไปดูเรื่องที่ 2 เป็นปัญหาระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับ ประชาธิปัตย์(ปชป.) กรณีที่มีการผลักดันให้ “นายกฯ” ออกคำสั่งแบ่งงานรัฐมนตรีดูแลพื้นที่จังหวัด จนทำให้ปชป.แสดงอาการไม่พอใจ เพราะมีการเปลี่ยนตัวให้ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ คนของพปชร.ไปดูแลพื้นที่สงขลา นครศรีธรรมราช และ ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงของ ปชป.มาก่อน แม้จะถูก พปชร. เจาะไปบ้างก็ตาม

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคปชป. ได้ส่ง “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.การพัฒนาสังคมฯ และ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ไปแจ้งกับนายกฯ และ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ว่า “คำสั่งนี้เป็นการเอาเปรียบทางการเมือง”

การส่ง “ร.อ.ธรรมนัส” ลงไปคุมพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ถูกมองว่าเพื่อขยายฐานเสียง หวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้านั่นเอง 

 

พรรคร่วมร้าวลึก นับถอยหลัง ‘รัฐบาลลุงตู่’

 

พรรคร่วมรัฐบาลร้าวลึก

นายประมวล เอมเปีย หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ ว่า หากสังเกตสัญญาณทางการเมืองในช่วงเดือนที่ผ่านมา จะเห็น “รอยร้าว” ในพรรคร่วมรัฐบาลที่นับวันจะ “ร้าวลึก” และพรรคร่วมรัฐบาลบริหารงานแบบสมาพันธรัฐ คือ ต่างคนต่างอยู่ งานกระทรวงใครกระทรวงมัน ไม่มีการบูรณาการร่วมในการแก้ไขปัญหาตามที่พูด 

ชัดเจนที่สุดคือ การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างตามบ้าน คอนโดฯ จนเกิดการเสียชีวิต ขณะที่ “รมว.สาธารณสุข” ยืนยันมีเตียงพอรองรับ มีวัคซีนมากพอ มียาตุนเพียบ เมื่อเกิดกระแสรวบ รวมรายชื่อเรียกร้องให้ “รมว.สาธารณสุข” ลาออกจากการบริหารผิดพลาด ทั้งเรื่องวัคซีน ยารักษาโควิด และการจัดการ สอดคล้องกับคนในพรรคกลับโพสต์เฟซบุ๊กว่า ดำเนินการตามที่นายกฯ กำกับดูแล เหมือนโยนเผือกร้อนใส่ผู้นำ 

 

นายกฯอยากเปลี่ยนรมต.

ทั้งมีข่าววงในว่า “นายกฯ” ต้องการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบางคนที่ถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนในรัฐบาล แต่ “เจ้าของพรรคตัวจริง” ที่อยู่วงนอกกลับไม่ยอมให้ปรับเปลี่ยน ถึงขั้นยอม “แตกหัก” จริงหรือไม่ คนวงในการ เมืองคุยกันมากเรื่องนี้  

“หรือแม้แต่กับพรรคเก่าแก่ที่ถูกแย่งพื้นที่ในภาคใต้ วันนี้ก็เกิดกระแสภายในพรรคเรียกร้องให้ถอนตัวจากรัฐบาล เพียงแต่เป็นการคุยในไลน์พรรค ยังไม่เป็นข่าวใหญ่ ยิ่งเมื่อเกิดกรณีแบ่งงานจังหวัดขับเคลื่อนไทยให้รัฐมนตรีคนดังจากภาคเหนือข้ามพื้นที่ไปล้างฐานการเมืองภาคใต้ของพรรคเก่า จนเกิดข่าวไม่พอใจ” 

หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ระบุว่า ล้วนเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า รัฐบาลนี้ใกล้ถึงทางตันแล้ว กู้ยืมสร้างหนี้สินให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน แถมหาเงินเข้ารัฐไม่เป็น ซํ้ายังเปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน กินหัวคิว สร้างพรรคข้าราชการ บริหารแบบราชการ พูดเป็นอย่างเดียว แต่ทำไม่ได้

“พรรคร่วมรัฐบาลก็ชิงดีชิงเด่น สร้างภาพให้ความหวังประชาชน แต่ไม่ทำจริง จนประชาชนหมดที่พึ่งที่หวัง พรรคร่วมเอาแต่ทะเลาะกันเองทางการเมือง ไม่ดูแลเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชน จนชาวบ้านบอก “ยุบสภา” ไปยังดีกว่า 2-3 ปี เลือกตั้งกันที เขายังมีเงินประทังชีวิตจากผู้สมัครส.ส. บางคน ยังดีกว่ารอวันตายจากการบริหารของรัฐบาลนี้” นายประมวล ระบุ

ปมปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน “พรรคร่วมรัฐบาล” รอวันเดินหน้าไปสู่ “จุดแตกหัก” 

จุดหมายปลายทางคือการ “ยุบสภา” 

ว่ากันว่า ไทม์มิ่งยุบสภาที่เหมาะสมที่ สุดคือ ภายหลังการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ซึ่งคาดว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ 7 ก.ย. 2564

เมื่อมีงบบประมาณแล้ว การอนุมัติโครงการ หรือ การใช้งบประมาณเพื่อกระจายลงสู่พื้นที่ฐานเสียง ก็จะตามมา 

ถึงเวลานั้น ก็จะรออะไรอยู่อีกเล่า “ยุบสภา” เพื่อเลือกตั้งใหม่ไม่ดีกว่าหรือ?