พิษโควิด‘สภาล่ม’ ‘พรบ.ประชามติ’ค้างเติ่ง

08 เม.ย. 2564 | 11:55 น.

การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2564 และมาพิจารณาต่อในวันที่ 8 เม.ย. แต่ก็ยังไม่สามารถพิจารณาให้จบเรียบร้อยไปได้ ต้องมา “ล่ม” ลง เพราะมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมน้อยมาก จากเหตุที่ เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลยทำให้ ส.ส. และ ส.ว.ไม่ค่อยมาประชุมกัน

โดยการประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 8 เม.ย. บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีสมาชิกอยู่ร่วมประชุมกันบางตา เกินองค์ประชุมไม่มาก 

มีการพิจารณาในมาตรา 50 เรื่องการนับคะแนนเสียงประชามติ ที่เมื่อมีการแสดงตนเป็นองค์ประชุมก่อนลงมติ ปรากฏว่ามีสมาชิกเหลืออยู่แค่ 372 คน  เกินองค์ประชุม 366 คน มาแค่ 6 เสียงเท่านั้น จน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมต้องคอยกระตุ้นเตือนขอความ ร่วมมือให้สมาชิกอยู่ในห้องประชุม ขอให้อดทนช่วยกันทำหน้าที่ เพราะเรามาไกลกันแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น  

ในการพิจารณา มาตรา 50/1 เรื่อง การนับคะแนนเสียงประชามตินอกราชอาณา จักร เมื่อนายชวน กดออดให้สมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุม ปรากฏว่า ยังคงมีสมาชิกอยู่กันอย่างบางตา แม้นายชวน กดออดเรียก 3 รอบ แต่สมาชิกก็ยังไม่ค่อยเข้ามาแสดงตน

จน นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย หารือว่า หากต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน จะมีผลทางกฎหมายหรือไม่ สังเกตมาหลายมาตราแล้ว มีสมาชิกอยู่น้อยลง จะเปิดประชุมวิสามัญ อีกครั้งได้หรือไม่ ซึ่งนายชวน ชี้แจงว่า จะไม่เปิดประชุมวิสามัญเป็นครั้งที่สาม ถ้าไม่ผ่าน เรื่องก็ค้างต้องไปเปิดประชุมอีกทีสมัยสามัญ เหมือนเราไม่รับผิดชอบ จึงขอให้ทุกคนอดทน ช่วยกันทำหน้าที่ 

ก่อนจะกดออกเรียก ส.ส.ให้มาแสดงตนเป็นองค์ประชุมครั้งที่ 4 มีสมาชิกมาแสดงตน 377 คน เกินองค์ประชุมมา 11 เสียง

ต่อมาเมื่อพิจารณามาถึงมาตรา 51 เรื่องการประกาศผลการออกเสียงประชามติ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. เสนอขอนับองค์ประชุม โดยการขานชื่อเรียงคน แต่นายชวนชี้แจง ว่ายังมีสมาชิกเข้าๆ ออกๆ ห้องประชุม และขอร้องไม่ให้นับองค์ประชุม 

จน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ลุกขึ้นกล่าวว่า  เห็นใจการประชุมวันนี้ เพราะมีเรื่องสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ส.ส.หลายคนไม่สามารถมาประชุมได้ เพราะไปพบคนติดเชื้อโควิด-19  จึงต้องเดินทางไปโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อ แต่ขอให้ระวังเรื่องการเสียบบัตรแทนกันด้วย เพราะไม่อยากเกิดเหตุขึ้น จนมีคนนำไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน สังเกตเห็นเสียงตอนแสดงตนเป็นองค์ประชุม กับเสียงตอนลงมติมีผลต่างห่างกันแบบผิดสังเกต เกรงจะมีคนเสียบบัตรแทนกัน 

ทำให้ นายคารม พลพรกลาง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สวนกลับทันทีว่า เรื่องการเสียบบัตรแทนกันไม่มี ขอให้ นายสมชาย อย่ามาโยนขี้ให้กัน ทำให้นายชวนรีบตัดบทเข้าสู่การประชุมต่อ  

 

จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 53 เมื่อมีการแสดงตนเป็นองค์ประชุม มีสมาชิกอยู่แสดงตนแค่ 374 เสียง ทำให้นายชวนตัดสินใจ พักการประชุม 10 นาที เพื่อเรียกวิป 3 ฝ่าย มาหารือกัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องจำนวนสมาชิกในห้องประชุม

ภายหลังพักประชุม ประธานรัฐสภา แจ้งว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติในวาระ 2 ยังเหลืออีก 2 หมวด คือ หมวด 8 และหมวด 9 ซึ่งหากอภิปรายไม่มากก็จะใช้เวลาไม่นาน แต่จากการหารือหากไปไม่รอดจำนวนสมาชิกไม่ครบก็ต้องยอมรับความเป็นจริง ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะปฏิเสธความเป็นจริง  และไม่ตำหนิใครเพราะทราบว่าสถานการณ์ไม่ปกติ

 

พิษโควิด‘สภาล่ม’ ‘พรบ.ประชามติ’ค้างเติ่ง

 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.เพื่อไทย แสดงความเห็นว่า พอเข้าใจได้ที่บางพรรคไม่มาประชุม เพราะสถานการณ์โควิด แต่คนที่อยู่ ก็ขอเรียกร้องให้เข้ามาร่วมประชุม เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายของรัฐบาล และอยากฝากบอกพี่น้องประชาชน ว่าวันนี้ถ้าเดินไปไม่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19

นายมานพ คีรีภวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า มาจากดอย ขอร้องให้ทุกคนกลับเข้าห้องประชุม 

จากนั้น นายชวน แจ้งว่าขอเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติวาระที่สองในหมวด 8 และ 9 ไปพิจารณาต่อในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้องค์ประชุมสมบูรณ์ และไม่ขอนับองค์ประชุม

จากนั้นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้อ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม และปิดประชุมในเวลา 15.19 น.

ทั้งนี้ สมัยประชุมสภาฯ หน้า จะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 2564 

 

ฝ่ายค้านลุยแก้รธน.

ทั้งฉบับ-รายมาตรา

พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ระบุว่า ในช่วงปิดสมัยประชุมตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเดินทางไปพบประชาชนใน 4 ภาค ได้แก่ เหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และ ใต้ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ รวมถึงสอบถามความ คิดเห็นและความต้องการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 

 

พิษโควิด‘สภาล่ม’ ‘พรบ.ประชามติ’ค้างเติ่ง

 

ทั้งนี้จากการที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ถูกตีตกในที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระ 3 อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องรอกฎหมายประชามติ พรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรคจึงจะไปหารือกันถึงความเห็นร่วมกันที่จะนำเสนอเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

โดยอาจมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคฝ่ายค้านได้เสนอไปก่อนหน้านี้ มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความต้องการของประชาชน

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเลขานุการผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันจุดยืนเดิม ขอเสนอ ให้มี ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ระหว่างการปิดสมัยประชุมจะเดินสายพบประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและยื่นข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะดำเนินการให้เสร็จก่อนการเปิดสมัยประชุมสมัยหน้า”

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,669 หน้า 12 วันที่ 11 - 14 เมษายน 2564