“คนรถไฟ” ทวงคืนสมบัติของแผ่นดิน จี้มหาดไทย เพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’

25 มี.ค. 2564 | 11:55 น.

“สมาพันธ์คนงานรถไฟ” ยื่นหนังสือถึง “รมว.มหาดไทย” จี้เพิกถอนโฉนดที่ดินทับซ้อนที่ดินของการถไฟฯ บริเวณเขากระโดง บุรีรัมย์ ยกคำพิพากษาศาลฎีกามัดผู้บุกรุกทุกรายต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

นายสุวิช ศุมานนท์ ระธานสมาพันธ์ คนงานรถไฟ หรือ สพ.รฟ. พร้อมด้วยพนักงานรถไฟจำนวนหนึ่ง  ได้เดินทางไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ชั้น 5 กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) กรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายเสวี จิระเสวี รองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นายสุวิช กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ทั้งผืน เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่า ที่ดินทั้งแปลง 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟฯ โดยให้ทางกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทั้งโฉนดและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่มีการบุกรุกทุกรายตามคำพิพากษา ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องให้เป็นไปตามกฏหมาย 

ส่วนคนที่ยังอาศัยอยู่ในที่ดินผืนนี้ ทางการรถไฟฯ ก็ต้องแสดงสิทธิ์ในการดูแลที่ดิน เนื่องจากเป็นสมบัติของแผ่นดิน อันดับแรกการรถไฟฯ ต้องทำเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์จากผู้อาศัยหรือบุกรุกก่อน ถ้าผู้อาศัยต้องการเช่าที่ดิน ก็ต้องคุยรายละเอียดปลีกย่อยกันต่อไป ซึ่งมีระเบียบกฎหมายรองรับอยู่แล้ว 

ส่วนกรณีที่ยังมีเอกชนครอบครองที่ดินเขากระโดง เช่น บ้านนักการเมือง สนามช้างอารีน่า ซึ่งเรื่องนี้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่มีการชี้แจงจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบว่า ที่ดินบางส่วนประชาชนอยู่มาก่อนการรถไฟฯจะเข้าทำประโยชน์นั้น นายสุวิชกล่าวว่า ประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากเมื่อปี 2464 มีพระราชกฤษฎีกาเรื่องการจัดซื้อที่ดินและทรัพย์สินเพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กำหนดเขตชัดเจนแล้วว่า ที่ดินเขากระโดงมีเนื้อที่อยู่ 5,083 ไร่ 50 ตารางวา ตามกฎหมายห้ามผู้ใดบุกรุกเข้าไปจับจอง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะบอกว่าไม่ใช่ที่ดินของการรถไฟฯ ก็ต้อง ขอให้ไปดูคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งระบุไว้ครบถ้วนอยู่แล้ว 

สำหรับกรณีที่มีบ้านนักการเมืองและคนใกล้ชิดอยู่ในที่ดินผืนนี้ จะทำให้การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทำไดยากหรือไม่ นายสุวิช กล่าวว่า ต้องว่าไปตามกฎหมาย ตนในฐานะของประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ ได้ดำเนินการตามคำพิพากษา เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย 

 

“ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ผู้ที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินอยู่ จะมีวิธีการจัดการอย่างไร หรือเจรจาอย่างไร เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องมาพูดคุยเจรจา กัน แต่เบื้องต้นนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องแสดงสิทธิ์การเป็นเจ้าของ” นายสุวิช ระบุ

สำหรับเอกสารที่สมาพันธ์คนงานรถไฟ ยื่นให้ รมว.มหาดไทย เพื่อยืนยันว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ นั้น ประกอบด้วย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541, มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2554, คำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2560 

 

“คนรถไฟ” ทวงคืนสมบัติของแผ่นดิน จี้มหาดไทย เพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’

 

จึงเป็นข้อยุติแล้วว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ซึ่งได้มาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง ต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2462 ห้ามผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ 

ส่วนที่ดินที่มีการครอบครองก่อนวันที่ 8 พ.ย. 2462 ห้ามมิให้เจ้าของนำที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่ ไปยกให้ หรือขาย-ซื้อ-แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด ห้ามมิให้สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาต จึงถือได้ว่าที่ดินของการรถไฟฯ ผืนนี้ เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้

 

ทั้งนี้ สมาพันธ์คนงานรถไฟ ได้เรียน รมว.มหาดไทย ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานของกรมที่ดิน เพื่อโปรดพิจารณาให้กรมที่ดินดำเนินการตามกฎหมายเพิกถอนเอกสารสิทธิกับผู้บุกรุกในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ทั้งหมด เพื่อรักษาไว้ซึ่งสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่สงวนหวงห้ามไว้ เพื่อประโยชน์ของกิจการรถไฟฯ และประชาชนคนไทยต่อไป

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค.64 ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบไปด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ นายมงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะ รมว.คมนาคม ในกรณี “ที่ดินเขากระโดง” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,665 หน้า 12 วันที่ 28 - 31 มีนาคม 2564