11 มี.ค.ลุ้น ศาลชี้ขาดแก้รธน.ได้-ไม่ได้

05 มี.ค. 2564 | 04:10 น.

ศาลรธน.นัดชี้ขาด “อำนาจรัฐสภา” แก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ 11 มี.ค.นี้ “วิษณุ” ปัดให้ความเห็น “สมชาย” ขออย่าคิดส.ว.จะควํ่าร่างแก้ไขรธน.รอฟังศาลก่อนตัดสินใจ 

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมและพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(1)

และศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือ ความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญ 4 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ นายอุดม รัฐอมฤต รวมทั้งหนังสือความเห็นของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง และคณะ ที่ยื่นคำร้องขอส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นแล้ว 

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง(2) ซึ่งที่ประชุมของรัฐสภามีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและประธาน รัฐสภา ส่งเรื่องต่อศาล ไม่ใช่การกระทำของสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคล แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาล จึงสั่งรับไว้เพื่อประกอบการพิจารณา 

และศาลได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่งและกำหนดนัดด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 11 มีนาคม เวลา 09.30 น.

 

“วิษณุ” ให้รอฟังศาลรธน.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย หน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 11 มีนาคมนี้ ว่า ต้องรอดูในวันดังกล่าว

“ผมไม่มีความเห็นอะไร ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากสภาเรื่องการประชุมสภาสมัยวิสามัญ” นายวิษณุ ระบุ

 

อย่าคิดว่า ส.ว.ควํ่ารธน. 

ด้าน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะผู้ร่วมยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ขาดเรื่องดังกล่าวในวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันครบกำหนด 15 วัน เพื่อโหวตร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพียง 1 วัน ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการพิจารณาของรัฐสภา ที่จะลงมติวาระ 3 เพราะศาลไม่ทราบว่ารัฐสภาจะนัดลงมติในวันใด คาดว่า การนัดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ​จะเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 17-18 มีนาคม เพราะมีร่างกฎหมายสำคัญที่รอพิจารณา

นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ทั้งทำได้ หรือไม่ได้ ตนพร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย ส่วนกรณีที่มีผู้ระบุว่าการนัดลงมติวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญยังทำได้ แม้คำวินิจฉัยของคำร้องจะตัดสินว่าทำไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญ มีอีกประเด็นคือ การแก้ไขมาตรา 256 นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่สามารถลงมติใดๆ ได้อีก เพราะวาระ 3 คือการเห็นชอบทั้งฉบับ

 

11 มี.ค.ลุ้น ศาลชี้ขาดแก้รธน.ได้-ไม่ได้

 

ส่วนที่ส.ว.ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพราะมีประเด็น 38 มาตรา ซึ่งเกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ถูกบัญญัติไว้ นายสมชาย กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า ส.ว.จะพิจารณา อย่างไร เพราะเป็นเอกสิทธิ์ ส่วนตนนั้นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรับธรรมนูญทั้งฉบับ และเมื่อประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ถูกบัญญัตติไว้ ทำให้เกิดความกังวลต่อการไร้กรอบการทำเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มี บทแก้ไข เปลี่ยนมาตราที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ ที่บัญญัติไว้นอกจากหมวด 1 บท ทั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

“อย่าคิดไปไกลว่า ส.ว.จะควํ่าร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 11 มีนาคมนี้ หากชี้ว่าทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องโหวต หากชี้ว่าทำได้ ส.ว.250 คน ต้องตัดสินใจอีกครั้ง ดังนั้น ขอให้ไปทีละขั้นตอน” 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลต่อกระแสมวลชนกดดันและอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนตัวกังวลที่จะมีความรุนแรง แต่เรื่องดังกล่าวควรใช้เหตุผล รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แก้ไขได้ แต่ต้องแก้รายมาตรา ในประเด็นที่มีปัญหา หรือมีความไม่สมบูรณ์ เช่น หน้าที่ สิทธิ เสรีภาพ เป็นต้น และนำไปสู่การทำประชามติ อย่างไรก็ดี หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำไม่ได้ สมาชิกรัฐสภายังมีสิทธิเสนอญัตติขอแก้ไขเป็นรายมาตราต่อรัฐสภาได้ โดยสามารถทำได้ทันทีและรวดเร็ว

 

กังวล ส.ว.ไม่ผ่านวาระ 3 

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวส.ว.จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ว่า รู้สึกกังวลใจและเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทที่จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ หากแก้ไขไม่ได้ ก็คงแก้ไขปัญหาอื่น รวมถึงเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะทุกอย่าง ต้องไปด้วยกัน ดังนั้น หากจะไม่ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีเหตุผล

“ถ้าสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นที่ออกกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ แล้วจะแก้ไขด้วยวิธีใด รัฐธรรมนูญเดิมดีที่สุดแล้วหรือถ้าไม่รับร่างก็ต้องมีเหตุผล เพราะหมายถึงไม่มีทางแก้ไขได้หรือไม่ แล้วจะรอให้รัฐประหารอีกทีหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ ผมเป็นผู้แทนมา 30 กว่าปี สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ออกกฎหมาย หากแก้ไม่ได้เชื่อว่าจะทำให้เกิดปัญหา” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,659 หน้า 12 วันที่ 7 - 10 มีนาคม 2564